Pages

Wednesday, March 30, 2011

0001 : มูลค่าพอร์ต ณ วันลาออกครั้งสุดท้าย

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าชื่อ Entry นี้ล้อมาจาก
ชื่อหนังสือ การลาออกครั้งสุดท้าย ของ พี่เต้ย ใบพัด แหะๆ
และไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนที่ทำงานออฟฟิศนั้นกว่า 90% อยากลาออกครั้งสุดท้าย
อยากมีอิสระในการดำเนินชีวิต ไม่อยากเอาชีวิตมาผูกติดกับเวลา 8โมงเช้า 5โมงเย็น ,
พูดให้ตรงอีกหน่อยก็คืออยากลาออกจากงานประจำนั่นแหละครับ


ลาออกไปทำไม ? ( อันที่ถูกน่าจะถามว่าทำไมถึงอยากลาออกครั้งสุดท้ายมากกว่า )
หลายคนตอบได้ ไม่ว่าจะเป็น ไปทำธุรกิจส่วนตัว ไปเรียนต่อ
ไปใช้ชีวิต ไปท่องเที่ยว ไปแต่งงาน
หรือไม่บางคนก็อาจจะลาออกไปดูแลบุพการีผู้มีพระคุณ
และอื่นๆอีกมากมายหลายเหตุผล
เพราะฉะนั้นคำตอบของคำถามที่ว่า จะลาออกไปทำไม ?
จึงไม่ยากที่จะตอบ


แต่อีกคำถามนึง ซึ่งอาจจะตอบไม่ง่ายนักก็คือ
ลาออกไปแล้วจะอยู่ยังไง ? นี่สิของจริง
หลายคนติดอยู่ที่คำถามนี้ ก็เลยไม่ได้ควักเอาใบลาออกครั้งสุดท้าย
ที่แอบเขียนใส่ซองซ่อนไว้ในลิ้นชักที่ทำงาน(มานานนม) ออกมายื่นสักที

ทำไมนะหรือ ?

ก็เพราะคนเราต้องกินข้าวไงครับ
ไม่ว่าจะมีงานทำหรือไม่มีงานทำ มีรายได้มากหรือน้อย
ท้องเรา มันไม่เลือกเวลาหิว
อิสระ บางทีก็ถูกจำกัดด้วยปากท้องของเรา นั่นเอง
บางคนก็ลาออกจากงานประจำ ไปใช้ชีวิตอิสระอย่างที่อยากใช้
แต่ก็มีบางคนที่ไปไม่รอด ต้องย้อนกลับมา เขียนใบสมัครงานอีกครั้งเช่นกัน

เพราะฉะนั้น การลาออกครั้งสุดท้ายจึงเป็นการตัดสินใจที่สำคัญครั้งหนึ่งของชีวิต
ไม่ว่ามันจะเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลดีเลวอย่างไร
เราเป็นคนรับผลของการตัดสินใจครั้งนี้เต็มๆ
( อาจจะส่งผลถึงคนข้างเคียง หรือ คนรอบข้างด้วย )

ตัดสินใจทั้งที ให้มันมีผลลัพธ์ที่ดี น่าจะดีกว่าจริงไหมครับ
แล้วเราจะทำยังไงให้การตัดสินใจลาออกครั้งสุดท้ายของเราเป็นการเลือกทางเดินที่ดีได้
ผมว่า... มันอยู่ที่การเตรียมตัว การวางแผน
( เหมือนอย่างที่ พี่เต้ย ใบพัด แอบวางแผนไว้เงียบๆ )
วางแผนรับมือกับอนาคต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ย่ำแย่
Worst case ถ้ามันเกิดขึ้น แล้วเรารับมือกับมันได้
เราก็แทบไม่ต้องกังวลกับสถานการณ์ปกติเลย ( แต่ก็ไม่ควรประมาท )
การลาออกครั้งสุดท้ายก็เช่นกัน
เราควรวางแผนรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจะเกิดขึ้นในชีวิตเอาไว้เผื่อด้วย


แล้วในฐานะนักลงทุนเราจะวางแผนให้กับการลาออกครั้งสุดท้ายยังไงดี
ถึงจะมีชีวิตที่สุขสบาย ไม่ต้องกังวลกับเรื่องของค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
โจทย์นี้ผมว่าไม่ง่ายครับ แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป


การที่เราจะลาออกจากงานประจำมาใช้ชีวิตตามที่เราอยากใช้
แล้วให้พอร์ตการลงทุนของเรานั้นเลี้ยงเราแทนเงินเดือน (ที่เราเคยได้รับ)
เราก็ต้องกลับมาย้อนดูตัวเราว่า ที่ผ่านมาเราใช้เงินเดือนละเท่าไหร่ ?
ถ้าเกิดมีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้นมา ( บางคนอาจจะมีลูกคนที่ 2 คนที่ 3 )
ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่ ?
หรืออาจจะคิดไปถึงค่าเทอมของลูกแต่ละคน ว่าจะให้เรียนโรงเรียนอะไร ?
จะให้เรียนดนตรี ภาษาอะไรเพิ่มไหม ?
ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูพ่อแม่ , รวมถึงพ่อตาแม่ยาย จะเป็นเท่าไหร่ ?
ปีนึงจะไปเที่ยวกันประมาณกี่ครั้ง ? , ก็ต้องเผื่อๆไว้บ้าง

แล้วก็ลองประมาณสรุปออกมาเป็นรายปีดูครับ

ใช้เท่าไหร่ ก็ต้องให้พอร์ตเราสร้าง passive income cover
กับค่าใช้จ่ายนั้นประมาณ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งปี
ย้ำว่า passive income เท่านั้นนะครับ ไม่นับรวมพวก capital gain นะครับ
เพราะ capital gain นั้นคือมูลค่าของพอร์ต
ไม่ได้สร้างกระแสเงินสดเข้ากระเป๋าเราในทันทีทันใดครับ
แม้เราจะกำไรมาก แต่ถ้าเราไม่ได้ขายหุ้น
capital gain ก็ยังคงเป็นแค่ตัวเลขสีเขียวๆในพอร์ต หรือ กำไรทางบัญชี เท่านั้น
ไม่ใช้รายได้ที่เป็นตัวเงินในกระเป๋าตังค์ของเราแต่อย่างใด

โดย passive income อาจจะมาจาก เงินปันผล , ดอกเบี้ย , ค่าเช่า หรือ ค่าลิขสิทธิ์ต่างๆ
ซึ่งเงินเหล่านี้เรานอนอยู่เฉยๆ มันก็ยังวิ่งเข้ากระเป๋าเราอยู่
ซึ่ง passive income นี้แหละครับ ที่มันจะเลี้ยงเราแทนเงินเดือน
หลังจากที่เราลาออกครั้งสุดท้ายแล้ว


แล้วทำไมต้องให้ passive income เป็น 2 เท่าของค่าใช้
ก็ต้องตอบเลยว่าเพื่อความอุ่นใจและปลอดภัยในอนาคตครับ
เพราะเราอาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ทำให้เราต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นก็ได้
เช่นวางแผนมีลูก 3 คน แต่ท้องสุดท้ายดันเป็นลูกแฝดเสียนี่ ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้น
ถ้าเราเผื่อไว้ตั้งเท่านึง เราก็ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างสบายๆได้

อีกข้อก็คือ การที่เราตั้ง passive income ไว้ 2 เท่า ของค่าใช้จ่ายนั้น
แต่ละเดือนเราย่อมมีเงินเหลือ และ เราก็สามารถนำเงินเหลือนี้
มาลงทุนต่อให้เกิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นได้อีกต่อหนึ่ง
พอร์ตเราก็จะใหญ่ขึ้น ปีหน้า passive income ของเราก็จะเพิ่มมากขึ้น
ถ้าทำแบบนี้ทุกปี เราก็จะมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ ครับ

ดังนั้นแต่ละคนก็ต้องคิดคำนวนแล้วล่ะว่า
ณ วันลาออกครั้งสุดท้าย เราต้องมีพอร์ตขนาดเท่าไหร่กัน

อย่างพี่เต้ย ใบพัด เค้าก็วางเอาไว้ที่ สองล้านสี่
คิด passive income ที่ผลตอบแทน 5% ต่อปี
ก็ตกอยู่ 120,000 บาท ต่อปี
หารออกมาต่อเดือนก็ตกอยู่เดือนละ 10,000 บาท
ซึ่งเค้ามองว่าการที่เค้าอาศัยอยู่ครอบครัว ไม่ได้มีรายจ่ายอะไร
รายได้ passive income เดือนละหมื่นก็เพียงพอ

หรือบางคนอาจจะมีครอบครัวของตัวเอง
ส่วนใหญ่ก็ ภรรยาหนึ่ง ลูกสอง ทำนองนั้น
ซึ่งค่าใช้จ่ายก็คงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
อาจจะเดือนละ สี่ซ้าห้าหมื่นบาท
แบบนี้ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมพอร์ตให้ดีๆก่อนลาออกครั้งสุดท้าย

สมมุติว่าหากครอบครัวมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 50,000 บาท
passive income ที่มีก็ไม่ควรต่ำกว่าเดือนละ 100,000 บาท = 1.2 ล้านบาทต่อปี
ถ้าคิดย้อนกลับที่ผลตอบแทน 5% พอร์ตก็ควรมีมูลค่า 24ล้านบาท

หลายคนอาจจะตกใจในมูลค่าของพอร์ต 24ล้านบาท
แน่นอนว่ามันดูแพงมาก , แต่ถ้าเทียบกับอิสระที่ได้รับ
หรือสุขภาพที่กำลังทรุดโทรมเพราะการทำงานออฟฟิศจนไม่มีเวลาออกกำลังกาย
ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว , คนที่เรารัก
มันคุ้มนะ ผมว่า
เวลา หาซื้อที่ไหนไม่ได้
แต่เวลาหลังจากวันลาออกครั้งสุดท้าย คุณสามารถซื้อมันได้ ด้วยตัวคุณเอง !


อีกอย่างนึงก็คือ ราคาค่างวดของ ใบลาออกครั้งสุดท้ายของแต่ละคนไม่เท่ากัน
ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายของเราและครอบครัว บางคนอาจจะมีครอบครัวเล็กๆอยู่กัน 3 คน
บางคนอาจจะลูกสองแถมต้องดูแลพ่อตาแม่ยาย อันนี้ก็หนักหน่อย
เพราะฉะนั้น เป็นหน้าที่ของท่านแล้วหล่ะ ที่จะต้องคิดคำนวนดูว่าเท่าไหร่จึงจะเพียงพอ
ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องให้ passive income ถึง 2เท่า ก็ได้
แต่ถ้าให้ผมแนะนำก็คือ ยังไงเหลือก็ดีกว่าขาด นะครับ
เผื่อไว้เยอะๆหน่อยก็ดี เพราะเราเดาอนาคตไม่ได้ใช่ไหมครับ


ที่สำคัญ มูลค่า ณ วันลาออกครั้งสุดท้าย ไม่มีใครบอกคุณนี่ว่าให้จ่ายครั้งเดียว
แต่เค้าให้คุณผ่อนครับ ไม่ได้จะต้องไปผ่อนกับไฟแนนซ์ไหนหรอกครับ
ผ่อนกับตัวเองเนี่ยแหละ
ถ้าคุณออมเงินทุกเดือน ลงทุนสม่ำเสมอ มันเป็นไปได้นะ เชื่อผม !


แต่ก็นั่นแหละ ไม่มีใครบอกนะว่ามีพอร์ตใหญ่ๆแล้วต้องลาออกจากงานประจำเสมอไป
ทำงานต่อแบบสบายอารมณ์ ชิลๆ ก็ไม่มีใครว่านะครับ
ดีซะอีกที่มีอะไร จะได้ไม่เหงา
ถ้ามีความสุขกับการทำงานอยู่แล้ว
แม้จะมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว
การทำงานต่อไป ก็เป็นตัวเลือกที่ดีอีกข้อนึงนะครับ


สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่าน โชคดี มีวินัย และ มีสติ ในการลงทุนครับ



ขอขอบคุณแหล่งความรู้และแรงบันดาลใจ จากหนังสือ การลาออกครั้งสุดท้าย ของพี่เต้ย ใบพัด มากๆครับ