Pages

Friday, September 23, 2011

0024 : กลยุทธ์การออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กลยุทธ์การออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับพนักงานออฟฟิศ ที่หาเลี้ยงชีพด้วยการกินเงินเดือนอย่างคุณๆผมๆ
แต่ละเดือนก็ต้องถูกหักเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่นายจ้างจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เราเก็บออมเงินไว้ใช้ในยามชีวิตหลังเกษียณ
โดยเราต้องหักเงินเดือนเพื่อออมเงินทุกๆเดือนและ
นายจ้างก็จะสมทบเงินให้เราอีกจำนวนหนึ่ง
แล้วก็ให้เหล่า บลจ. นำเงินกองนี้ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน
( ส่วนใหญ่จะสามารถเลือกแผนการลงทุนได้ด้วย
แบ่งเป็น แผนเสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย ประมาณนั้น )
ผลตอบแทนก็ว่ากันไปตามแผนการลงทุน และ ฝีมือของผู้จัดการกองทุน

แต่มีอีกอย่างนึงที่เราควรให้ความสำคัญก็คือ
เงื่อนไขในเงินออมส่วนที่นายจ้างจะสมทบให้

ซึ่งตรงนี้โดยส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งเป็น 2 แบบ
คือ 1. นายจ้างสมทบให้เท่ากับที่เราหักออม เช่น
สมมุติเงินเดือนเรา 20,000 บาท แต่ละเดือนเราหักไว้ 3%
ก็เท่ากับ 600 บาท ตรงนี้นายจ้างออมสมทบก็จะให้เราอีก 600 บาท
หรือหากเราเลือกออมเดือนละ 10% ตกเดือนละ 2,000 บาท
นายจ้างก็ต้องจ่ายสมทบเงินตรงนี้ให้เราเดือนละ 2,000 บาท เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าเท่ากับว่าในแต่ละเดือนเราได้เงินฟรีๆจากนายจ้างของเรา
เพียงแค่เราออมเงินให้มากๆเท่านั้นเอง
หากองค์กรใดที่ใช้วิธีนี้ในการจ่ายสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เราก็น่าจะหักออมเงินให้มากที่สุด
(ส่วนใหญ่หักออมเข้ากองทุนสำรองฯได้สูงสุดราวๆ 10 - 15% ของเงินเดือน)
จะทำให้เราได้ประโยชน์จากเงินออมตรงนี้มากที่สุด


2. ส่วนอีกแบบนึงก็คือ การที่ไม่ว่าเราจะหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าไหร่ก็ตาม
นายจ้างก็จะสมทบให้ในอัตราที่สูงสุดที่กำหนด เช่น
เงินเดือน 20,000 บาท แล้วเราเลือกหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 3%
เท่ากับ 600 บาท แต่นายจ้างจะต้องสมทบให้เราเท่ากับอัตราสูงสุด
สมมุติว่าเท่ากับ 15% ตรงนี้แต่ละเดือนนายจ้างจะต้องสมทบให้เราเดือนละ
3,000 บาทเลยทีเดียว เท่ากับว่าเราจ่าย 600 ได้อีก 3,000 ฟรีๆ
ถ้าองค์กรไหนใช้วิธีนี้ในการสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ก็จะอยู่ที่เราแล้วล่ะว่า เราจะเลือกหักออมไว้ในกองทุนอย่างไร

โดยผมขอแยกเป็น 2 แบบคือ หากเราคิดว่าเรามีวินัยและมีฝีมือในการลงทุนอยู่บ้าง
ก็ให้เราเลือกหักในส่วนของเราใน Rate ต่ำสุด ต่ำสุด 3% ก็หัก 3%
ต่ำสุด 5% ก็หัก 5% แล้วให้เรานำเงินส่วนที่เหลือจากส่วนต่ำสุดที่หัก
มาลงทุนด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเรามีความรู้ด้านการลงทุนพอประมาณ
เราน่าจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว
ที่สำคัญคือเราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และมีวินัยในการออมเงินให้มากๆ
ไม่งั้นแทนที่จะเอาเงินส่วนนั้นออกมาลงทุนเอง กลายเป็นว่าเอาไปใช้จ่าย
อย่างอื่นให้หายไปกับสายลม แบบนั้นบั้นปลายชีวิตจะเหลือเงินน้อยกว่าอีกทางเสียอีก

ส่วนทางเลือกอีกทางนึง สำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะมีวินัยมากพอ
หรือไม่ค่อยมีเวลาใส่ใจกับการลงทุนเองสักเท่าไหร่
ก็ควรหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราสูงสุดไปเลยครับ
แบบนั้นพอเกษียณมาเงินออมจะได้ก้อนโตเลยทีเดียว
ซึ่งถ้าหากคำนวนไว้ดีๆ ก็สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสุขสบายได้เช่นกัน


ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม การออมเงิน เป็นสิ่งที่ดีครับ
แต่บางทีเราก็ต้องใส่ใจกับรายละเอียดปลีกย่อยของการบริหารเงินบ้าง
ซึ่งหลายๆครั้งมันก็ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้เราได้ง่ายๆครับ ^ ^

Thursday, September 22, 2011

0023 : Value Visions 22-09-2011

วันนี้ SET Index ลดลง 39 จุด โหดมากมาย
เหตุการณ์แบบนี้ฟังเค้าเล่าให้ฟังมันไม่อิน
มาอินจริงๆตอนที่เจอกับตัววันนี้เนี่ยแหละครับ
พอร์ตของผมจากกำไรช่วงพีคๆของปีนี้เกือบ 60%
ตอนนี้ลดลงเหลือกำไรเพียงแค่ 40% เท่านั้น เห้อ

ตอนแรกที่ผมวางแผนไว้ก็คือเทคกำไรจาก BLA (หุ้นตัวหลักของพอร์ต)
ณ ราคา 57บาท แล้วถือเงินสดรอ แต่ทะลึ่งดันไป SAP
กลับมาซะได้ แม้ต้นทุนจะลดไปราวๆ 3บาทต่อหุ้น
แต่พอมาเจอเหตุการณ์นี้เข้าไปก็เหงื่อตกเหมือนกัน
ถึงแม้ว่าพื้นฐานของกิจการไม่ได้เปลี่ยนแปลง
แต่ว่าการที่เราวางแผนแล้วไม่ทำตามแผนนั้น
ทำให้เราเสียหายก็เลยรู้สึกแย่กับตัวเองนิดหน่อยครับ
แต่ทำยังไงได้ล่ะ ก็ต้องยืดอกยอมรับกันไป

ในช่วงเวลาแบบนี้ผมรู้ซึ้งเลยว่า ที่ Buffett , Soros หรือเซียนหลายๆคน
บอกว่า การรักษาตัวรอดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญสุดๆจริงๆ
บางคนอาจจะบอกว่าหากลงทุนระยะยาว หากเราลงทุนกับ Great Company
และพื้นฐานกิจการไม่เปลี่ยน เราไม่จำเป็นต้องหนีไปถือเงินสดก็ได้
แต่ปัญหาก็คือเราแม่นพอรึเปล่า ว่าบริษัทที่เราถือหุ้นเป็น Great Company

อันที่จริงเค้าลางของตลาดขาลง มันเริ่มชัดมาตั้งแต่เดือนก่อนแล้ว
( ช่วงที่ผมเขียนบันทึกบ่อยๆก็ราวๆวันที่ 20กว่า สิงหาฯ )
นั่นหมายถึงสถานการณ์ข้างหน้าไม่ชัดเจนว่าจะไปต่อได้
ทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือการหนีออกมายืนดูอยู่นอกวง
แต่ไอ่เราดันไม่เชื่อความคิดของตัวเอง ดันทะลึ่งเข้าไปเล่นอีกรอบ
ก็ต้องเจ็บกันไป...

ต่อจากนี้ไปผมคงให้ความสำคัญกับการเอาตัวรอดเป็นอันดับแรก

อีกอย่างของความผิดพลาดที่มันส่งผลมาถึงในวันนี้ก็คือ
การยอมซื้อหุ้นในราคาที่สูงขึ้น ในช่วงที่ภาวะตลาดกำลังร้อนแรง
หุ้นในพอร์ตบางตัวผมที่ผมซื้อเพิ่มเข้ามาในช่วงตลาด 1,000 - 1,100 จุด
บางตัวผมก็มองว่า มันยังมี Upside จากผลประกอบการที่คาดในปี 2555
แต่ผมลืมคำนึงถึง downside ไปเสียสนิทเลย
การซื้อหุ้นแบบ MOS น้อยๆแบบนี้ย่อมเป็นอันตรายต่อตลาดขาลง
และตลาดขาลงก็มาให้บทเรียนแก่ผมในทันใด ฮ่าๆ T T

การลงทุนเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยจริงๆครับ
ที่เราทำผลตอบแทนได้ดี อย่าไปคิดว่าเราแน่ เราเจ๋งแล้ว
มันอาจจะเป็นแค่โชคดีก็ได้...

ก็คงต้องเดินหน้ากันต่อไปครับ
ที่สำคัญคือ เราต้องไม่หยุดเรียนรู้ และอย่าทำอะไรโดยใช้อารมณ์

Wednesday, September 21, 2011

0022 : เราเลี้ยงพอร์ต แล้วพอร์ตจึงเลี้ยงเรา

เรื่องน่าอึดอัดใจอย่างนึง ของนักลงทุนที่พอร์ตยังเล็กกระจิ๋วหลิว ก็คือ
เมื่อไหร่พอร์ตเราจะโตจนปันผลเลี้ยงเราได้สักทีว้า ?!
ยิ่งเหล่านักลงทุนที่ทำงานออฟฟิศผู้ไขว่คว้าหาคำว่าอิสระแล้วล่ะก็
ยิ่งทรมาณจิตใจเข้าไปใหญ่ (เหมือนรอคนมาปล่อยตัวออกจากกรง)


อันที่จริงนั้น ในช่วงแรกของการลงทุน ช่วงที่พอร์ตเรายังกระจ้อยร้อยอยู่นั้น
เป็นหน้าที่ของเรา ที่เราจะต้องเป็นผู้ดูแล ประคบประหงม พอร์ต
พูดง่ายๆก็คือ เราต้องเป็นคนเลี้ยงพอร์ต ก่อน
เลี้ยงจนมันโต พอพอร์ตเราโต เวลานั้นก็เป็นพอร์ตล่ะครับที่จะเลี้ยงเรา


ว่าแต่พอร์ตของเรานี่กินอะไรเป็นอาหารล่ะ เลี้ยงมันด้วยอะไรดี
คงไม่ใช่อาหารสัตว์ของ CPF หรอกนะ หุหุ


สิ่งที่เราใช้เลี้ยงพอร์ต มี 2 อย่างครับ
1. เงิน
2. ความรู้

1) เลี้ยงพอร์ตด้วย " เงิน "
ไม่ต้องสงสัยเลยครับ พอร์ตยังเล็กอยู่ ทำยังไงให้โต ก็อัดเงินเข้าไปสิ
มีเงินเย็นๆเมื่อไหร่ก็ใส่เข้ามา พอร์ตจะได้โตไวไว แต่ถ้าเลี้ยงพอร์ตด้วยเงิน
อย่างเดียวระวังเสียพอร์ตเอาได้นะครับ เพราะการเลี้ยงพอร์ต เราต้องเลี้ยง
พอร์ตด้วย " ความรู้ " ด้วย

2) เลี้ยงพอร์ตด้วย " ความรู้ "
การที่พอร์ตเราโต โดยที่เราไม่มีความรู้พอที่จะบริหารจัดการพอร์ตได้
สักวันพอร์ตเราก็จะกลับไปเล็กลงเท่ากับความรู้ที่เรามี และหากเราหาเงินมา
ใส่เข้าไปให้มันโตขึ้น โดยไม่หาความรู้มาบริหารพอร์ต ก็กลายเป็นว่าเราเป็น
คนทืงานเลี้ยงมันซะแล้ว ความรู้เป็นสิ่งสำคัญครับ พอร์ตเล็ก แต่เรามีความรู้
ก็สามารถบริหารพอร์ตให้โตได้ ตรงข้ามกับพอร์ตโต แต่ความรู้ไม่ค่อยจะมี
สักวันพอร์ตก็ต้องหดเล็กลง เพราะงั้นอย่าลืมหาความรู้ไว้เลี้ยงพอร์ตนะครับ


จงใช้ทั้งความรู้และเงินออม เลี้ยงจนพอร์ตโต แล้ววันนั้น พอร์ตจะเลี้ยงเราเอง...


แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรเผลอนำมาเลี้ยงพอร์ต นั่นก็คือ " อารมณ์ "
อารมณ์ โลภ , กลัว กันออกไปให้ไกลพอร์ตเราให้มากที่สุดเลยครับ ^ ^

Monday, September 19, 2011

0021 : มนุษย์เป็นสัตว์ช่างเปรียบ

มนุษย์เป็นสัตว์ช่างเปรียบ

นอกจาก "ความโลภ" และ "ความกลัว" แล้ว
ในหลายๆครั้งนักลงทุนเรายังโดน "ความอิจฉา" เข้าเล่นงานด้วย
( อิจฉา อย่างเดียวนะครับ ไม่ได้ ริษยา ด้วย , ถ้า ริษยา ด้วย คือ
ประมาณอารมณ์นางร้ายละครไทย คือ ขัดขวางปองร้ายด้วย
แต่อิจฉาก็คืออยากได้อยากมีอยากเป็นแบบเค้า เท่านั้น )

ผมเคยอ่านเจอบทความ(ไม่แน่ใจว่าของพี่โจ๊ก สุมาอี้ รึเปล่านะครับ)
ประมาณว่า หากมีบริษัทยื่นเงินเดือนให้เรา 100,000 บาท แต่เพื่อน
ร่วมสถาบันเดียวกับเราได้เงินเดือน 120,000 บาท กับอีกบริษัทให้
เรา 80,000 บาท ส่วนเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกับเราได้ 50,000 บาท
คนเรามีแนวโน้มที่จะเลือกงานหลัง...

ทำไมถึงเลือกงานหลังล่ะ ( แต่เป็นผมเลือกงานแรกนะ เพื่อนได้เท่าไหร่ชั่งมัน )
นั่นเป็นเพราะความช่างเอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นของมนุษย์นั่นเอง

ในการลงทุนก็เช่นกัน บางทีเราก็แอบเอาผลตอบแทนของเรา
กำไรของเรา มูลค่าพอร์ตของเรา ไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆเช่นกัน

ซึ่งบางครั้งมันก็ดันมีผลกับจิตใจของเรา ทำให้การตัดสินใจของเราผิดเพี้ยนไป
การที่เราเอาพอร์ตไปเทียบกับคนที่พอร์ตโตกว่าเรา
หรือเอาผลตอบแทนไปเทียบกับคนที่ได้กำไรเยอะกว่าเรา
มันจะทำให้ใจเรานั้นอยากให้พอร์ตโตๆแบบเค้า อยากได้กำไรเยอะๆแบบเค้า
ซึ่งอาจจะทำให้เราเร่งปรับพอร์ต จนทำให้พอร์ตเสียหายได้

การที่เราเอาพอร์ต เอาผลตอบแทนไปผูกกับชาวบ้าน
จะทำให้ความคิดของเราไม่มีอิสระ...
เพราะงั้นการตัดสินใจย่อมมีโอกาสพลาดได้สูงกว่าปกติครับ

บางครั้งผมก็เป็นเหมือนกัน
เห็นเค้าพอร์ตโตๆ เราก็อยากให้พอร์ตโตไวไวทันเค้าบ้าง
บางทีก็คิดจะ Switch ปรับพอร์ตให้พอร์ตมันโตไวไว
โดยที่ถ้าหากทำด้วยความใจร้อน ไม่แม่นพอ
ก็จะกลายเป็นขายหมูตัวเดิม มาซื้อควายซะส่วนใหญ่

บางทีเราก็ลืมมองไปว่า ที่เค้าได้กำไรเยอะกว่าเรา
อาจจะเป็นเพราะมันเป็นจังหวะของหุ้นที่เค้าถนัดพอดี
แล้วจังหวะของหุ้นเราก็ยังมาไม่ถึง แต่พอเราเอาตัวเราไปเปรียบ
เราก็อยากจะปรับพอร์ตไปถือหุ้นตัวอื่น(ที่เราคิดว่าจะขึ้น)
ประมาณว่าเฉดหัวตัวเก่าทิ้ง หาตัวใหม่ว่างั้น

หรือบางทีเห็นคนพอร์ตโตๆ เราก็อยากพอร์ตโตไวไวให้ทันเค้าบาง
โดยที่เราลืมมองไปว่า ต้นทุนเรากะเค้าอาจจะต่างกัน
ต้นเงินเค้าอาจจะเยอะกว่าเรา หรือเค้าอาจจะลงทุนมานานกว่าเรา
ไอ่ความ "อยากให้พอร์ตโตแบบเค้าบ้าง" นี่แหละครับ
ที่อาจเป็นตัวการที่ทำให้เรารีบเร่งตัดสินใจซื้อหุ้น
หรือ "ทำอะไรสักอย่าง" กับพอร์ต
(ทั้งๆที่ช่วงเวลานั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องทำอะไร)

แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นนะครับ
เปรียบได้ แต่เราต้องรู้ทันใจเราด้วย
เปรียบในเชิงที่ดีๆ...
เปรียบเทียบว่าเค้าเรียนรู้มาขนาดไหน เราได้เรียนรู้แบบเค้าไหม
เปรียบเทียบว่าเค้าตั้งใจเก็บออมเงินอย่างไร เราทำได้เท่าเค้าไหม

ที่ควรเปรียบก็คือ เราควรเปรียบเทียบตัวเรากับตลาดครับ
ถ้าเราทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดก็ถือว่าฝีมือการลงทุนเราโอเค
แต่ถ้าแพ้ตลาด ก็ต้องย้อนกลับมาดูตัวเราว่าเราผิดตรงไหน จะแก้ยังไง...


บางทีศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของการลงทุนไม่ใช่ใครที่ไหน
ไม่ใช่ฝรั่งหัวทอง ฝรั่งหัวดำ กองทุนฯ แต่มันคือตัวเราเองนี่แหละครับ
เพราะงั้น การรู้ทันตัวเองให้มากๆ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญครับ !

Thursday, September 8, 2011

0020 : วิธีเริ่มต้นออมเงิน

ช่วงที่ผ่านมาหลายคนได้ใช้น้ำมันราคาถูกลง
จากการที่รัฐบาลยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน
เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน
ผมไม่รู้ว่าการแก้ปัญหาแบบนี้มันจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่
แต่เท่าที่รู้สึกได้ ค่าใช้จ่ายของหลายๆคนก็เบาลงหน่อยนึง
ดังนั้นผมจึงคิดว่า นี่อาจเป็นนิมิตรหมายอันดีที่เราจะเริ่มต้นออมเงิน
โดยเฉพาะหลายๆคนที่ยังไม่เคยออมเงินได้กะเค้าบ้างเลย
ใช้เงินเดือนชนเดือนมาตลอด ตัวเลขในสมุดบัญชีเป็นแต่เลข 2 หลัก
( ตอนผมทำงานใหม่ๆก็เป็นนะ เงินในบัญชีไม่เหลือเลย )
เมื่อเงินไม่เหลือ ทำให้ไม่สามารถออมเงินได้แบบชาวบ้าน...
โดยโอกาสนี้เราควรจะเริ่มออมเงินจากในส่วนของค่าใช้จ่ายที่ลดลงไป
อย่างน้อยก็ในค่าใช้จ่ายของการเติมน้ำมัน
อย่างบางคนอาจจะเติม 91 ปกติรวมๆแล้วค่าน้ำมันอาจจะเดือนละ 5,000 บาท
พอรัฐบาลประกาศลดราคาน้ำมัน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันลดลง
จาก 5,000 บาท จะเหลือเพียงแค่ราวๆ 4,200 บาทเท่านั้น
ทีนี้เราก็เอา 800 บาทมาออมไว้ แล้วก็ต้องต่อเนื่องทำจนเป็นนิสัยครับ

จากนั้นก็ให้ลองหัดวางแผนการใช้เงินในแต่ละเดือนดูครับ
อย่างน้อยก็ควรเริ่มทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะได้นำมาดูย้อนว่าแต่ละเดือน
เราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง การมองย้อนไปจะทำให้เราเห็นภาพการใช้เงิน
ของตัวเราเองชัดขึ้นครับ ว่าบางอย่างเราก็ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายด้วยอารมณ์
หรือบางอย่างมันก็เป็นการใช้จ่ายแบบสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
จากนั้นพอทำจนเป็นนิสัยได้ติดต่อ ก็เอาประติการใช้เงินเรามาวิเคราะห์
ว่าส่วนไหนเราตัดทอนได้บ้าง ส่วนในที่เรามักจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเป็นประจำ
แล้วเราก็เอาเงินส่วนที่เราลดค่าใช้จ่ายตรงนั้นได้มาออมเงินอีกทีครับ
ผ่านไปครั้งปี หนึ่งปี สองปี เงินเล็กๆน้อยๆในแต่ละเดือนเหล่านั้น
จะเติบโตเป็นเงินก้อนใหญ่ให้คุณเป็นอย่างไม่คาดคิดเลยแหละ...


แต่จริงๆแล้วการออมเงินควรจะออมก่อนจ่ายนะครับ
แบบวิธี " หักดิบ " คือ เมื่อรับรายได้มาก็ตัดออมเลย
แต่สำหรับบางคนเข้าใจว่า อาจจะใช้เงินแบบเดือนชนเดือนมาตลอด
ทำให้หากออมเงินแบบ " หักดิบ " เลยจะทำให้ปรับตัวไม่ทัน
พาลจะล้มเหลวแอบเอาเงินมาหมุนมาใช้เสียเปล่าๆ
ผมก็เลยแนะนำให้ออมจากรายจ่ายส่วนลดก่อนครับ
เพราะวิธีนี้จะเป็นการค่อยๆปรับตัว ละมุนละม่อมกว่าวิธีหักดิบครับ
ที่สำคัญคือต้องต่อเนื่อง และ ต้องใจแข็ง ไม่ถอนเงินที่ออมไว้มาใช้เด็ดขาด
ทำจนชิน จากนั้นก็ค่อยๆเพิ่มเงินออมเข้าไปในสัดส่วนที่มากขึ้นๆ
สุดท้ายแล้วเราก็จะออมแบบสบายๆ จนเป็นนิสัยที่ติดตัวเราไปตลอดครับ

อีกวิธีนึงผมอ่านเจอจากหนังสือของ แซนดี้ ฟอร์สเตอร์ ซึ่งก็คือการออมเศษเหรียญ
ซึ่งเค้าบอกว่า เวลาเราได้เงินทอนมาเป็นเศษเหรียญ เราก็อย่าเอาไปใช้
แต่ให้เอาไปหยอดกระปุกไว้ และให้เอาเหรียญเงินที่ติดอยู่ในกระเป๋าสตางค์นั้น
มาหยอดลงกระปุกทุกวันๆ พอเต็มกระปุกก็เอาไปเก็บเข้าบัญชีเงินออม
หรือนำไปลงทุน ( วิธีนี้ผมเองก็เพิ่งเริ่มทำครับ พบว่าง่ายดี ตกเย็นพอกลับจาก
ที่ทำงานมาก็เอาเหรียญมาหยอดๆๆๆลงกระปุกไว้ ปลายเดือนก็แคะไปฝาก )

วิธีนี้ประยุกต์ใช้กับธนบัตรก็ได้นะครับ อย่างในเวบ thaivi.org ผมเคยอ่านเจอ
กระทู้นึง มีคนบอกว่าเค้าออมเงินด้วยแบงค์ 50บาท คือเห็นแบงค์ 50 เมื่อไหร่
ก็จะเก็บลงกระปุก ไม่เอาแบงค์ 50บาท ไปใช้จ่ายซื้อของ แต่จะเก็บไว้ออม
ดูว่าผ่านไปกี่ปีจะมีแบงค์ 50บาท กี่ใบ ออมได้เท่าไหร่... แต่เหมือนเค้าจะ
ให้เหตุผลว่าที่เลือกแบงค์ 50บาท ก็เพราะ แบงค์ 50บาท เป็นธนบัตรที่เรา
ไม่ค่อยได้พบเจอเท่าไหร่นัก ( เจอน้อยกว่าแบงค์ 100 และ แบงค์ 20 ) ก็เลย
นำมาเป็นวิธีในการออมเงินซะเลย...


เป็นยังไงกันบ้างครับวิธีออมเงินที่ผมแนะนำ
ยังไงก็ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ...
และหากใครมีวิธีดีๆที่จะแนะนำอีกก็ช่วยแชร์ให้ฟังด้วยนะครับ : )

สู้ๆ เพื่ออิสระภาพทางการเงินครับ!