Pages

Friday, September 23, 2011

0024 : กลยุทธ์การออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กลยุทธ์การออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับพนักงานออฟฟิศ ที่หาเลี้ยงชีพด้วยการกินเงินเดือนอย่างคุณๆผมๆ
แต่ละเดือนก็ต้องถูกหักเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่นายจ้างจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เราเก็บออมเงินไว้ใช้ในยามชีวิตหลังเกษียณ
โดยเราต้องหักเงินเดือนเพื่อออมเงินทุกๆเดือนและ
นายจ้างก็จะสมทบเงินให้เราอีกจำนวนหนึ่ง
แล้วก็ให้เหล่า บลจ. นำเงินกองนี้ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน
( ส่วนใหญ่จะสามารถเลือกแผนการลงทุนได้ด้วย
แบ่งเป็น แผนเสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย ประมาณนั้น )
ผลตอบแทนก็ว่ากันไปตามแผนการลงทุน และ ฝีมือของผู้จัดการกองทุน

แต่มีอีกอย่างนึงที่เราควรให้ความสำคัญก็คือ
เงื่อนไขในเงินออมส่วนที่นายจ้างจะสมทบให้

ซึ่งตรงนี้โดยส่วนใหญ่แล้วจะแบ่งเป็น 2 แบบ
คือ 1. นายจ้างสมทบให้เท่ากับที่เราหักออม เช่น
สมมุติเงินเดือนเรา 20,000 บาท แต่ละเดือนเราหักไว้ 3%
ก็เท่ากับ 600 บาท ตรงนี้นายจ้างออมสมทบก็จะให้เราอีก 600 บาท
หรือหากเราเลือกออมเดือนละ 10% ตกเดือนละ 2,000 บาท
นายจ้างก็ต้องจ่ายสมทบเงินตรงนี้ให้เราเดือนละ 2,000 บาท เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าเท่ากับว่าในแต่ละเดือนเราได้เงินฟรีๆจากนายจ้างของเรา
เพียงแค่เราออมเงินให้มากๆเท่านั้นเอง
หากองค์กรใดที่ใช้วิธีนี้ในการจ่ายสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เราก็น่าจะหักออมเงินให้มากที่สุด
(ส่วนใหญ่หักออมเข้ากองทุนสำรองฯได้สูงสุดราวๆ 10 - 15% ของเงินเดือน)
จะทำให้เราได้ประโยชน์จากเงินออมตรงนี้มากที่สุด


2. ส่วนอีกแบบนึงก็คือ การที่ไม่ว่าเราจะหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าไหร่ก็ตาม
นายจ้างก็จะสมทบให้ในอัตราที่สูงสุดที่กำหนด เช่น
เงินเดือน 20,000 บาท แล้วเราเลือกหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 3%
เท่ากับ 600 บาท แต่นายจ้างจะต้องสมทบให้เราเท่ากับอัตราสูงสุด
สมมุติว่าเท่ากับ 15% ตรงนี้แต่ละเดือนนายจ้างจะต้องสมทบให้เราเดือนละ
3,000 บาทเลยทีเดียว เท่ากับว่าเราจ่าย 600 ได้อีก 3,000 ฟรีๆ
ถ้าองค์กรไหนใช้วิธีนี้ในการสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ก็จะอยู่ที่เราแล้วล่ะว่า เราจะเลือกหักออมไว้ในกองทุนอย่างไร

โดยผมขอแยกเป็น 2 แบบคือ หากเราคิดว่าเรามีวินัยและมีฝีมือในการลงทุนอยู่บ้าง
ก็ให้เราเลือกหักในส่วนของเราใน Rate ต่ำสุด ต่ำสุด 3% ก็หัก 3%
ต่ำสุด 5% ก็หัก 5% แล้วให้เรานำเงินส่วนที่เหลือจากส่วนต่ำสุดที่หัก
มาลงทุนด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเรามีความรู้ด้านการลงทุนพอประมาณ
เราน่าจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว
ที่สำคัญคือเราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และมีวินัยในการออมเงินให้มากๆ
ไม่งั้นแทนที่จะเอาเงินส่วนนั้นออกมาลงทุนเอง กลายเป็นว่าเอาไปใช้จ่าย
อย่างอื่นให้หายไปกับสายลม แบบนั้นบั้นปลายชีวิตจะเหลือเงินน้อยกว่าอีกทางเสียอีก

ส่วนทางเลือกอีกทางนึง สำหรับผู้ที่ไม่มั่นใจว่าจะมีวินัยมากพอ
หรือไม่ค่อยมีเวลาใส่ใจกับการลงทุนเองสักเท่าไหร่
ก็ควรหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราสูงสุดไปเลยครับ
แบบนั้นพอเกษียณมาเงินออมจะได้ก้อนโตเลยทีเดียว
ซึ่งถ้าหากคำนวนไว้ดีๆ ก็สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสุขสบายได้เช่นกัน


ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม การออมเงิน เป็นสิ่งที่ดีครับ
แต่บางทีเราก็ต้องใส่ใจกับรายละเอียดปลีกย่อยของการบริหารเงินบ้าง
ซึ่งหลายๆครั้งมันก็ช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าให้เราได้ง่ายๆครับ ^ ^

No comments:

Post a Comment