ช่วงนี้รู้สึกว่ามีคนมาให้สอน " เล่นหุ้น " เยอะเหลือเกิน
แต่ผมก็ตอบกลับไปเกือบทุกครั้งว่าผมไม่ได้ " เล่นหุ้น "
แต่ผมเน้นลงทุนระยะยาว ( แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครเชื่อ )
เป็น Value Investor นี่ก็ลำบากนะครับ
เพราะการที่จะไปอธิบาย " วิถี VI " ให้ใครเค้าฟังเนี่ย
มันช่างยากลำบากเสียเหลือเกิน
ที่เค้าว่ากันไว้ว่า Value Investor เนี่ย ถ้าจะเป็นกัน
มันเป็นกันตั้งแต่เกิด หรือ เป็นออกมาจากตัวตน
ใครที่เป็นไม่ได้ ก็มักจะฝืนนิสัย ( เรียกให้แรงก็ สันดาร ) ตัวเองยากครับ
แต่ถ้าเราเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาการลงทุน
หรือในเรื่องของการพัฒนาตัวเอง
มันก็เปลี่ยนกันได้ครับ
ดังเช่นที่มีนักเก็งกำไรหลายคน
เปลี่ยนแนวมาลงทุนในแนวทางของ Value Investing
และประสบความสำเร็จกันหลายคน
เอ้อ นอกเรื่องไปเสียยาวเลย
พูดเรื่องคนมาบอกให้สอน " เล่นหุ้น " เสียหน่อยเดียว
เอางี้ครับ คือผมเคยเขียน Blog ไว้ที่ exteen
เรื่อง Road Map ของ VI มือใหม่
วันนี้ก็ขอเอามา Rewrite เขียนเพิ่มเติม ปรับปรุง
ในมุมมองที่เพิ่มขึ้นตามประสบการณ์การลงทุนก็แล้วกันครับ
ก็ถือเป็น Road Map สำหรับ Value Investor มือใหม่ก็แล้วกันนะครับ
เพราะไอ้ผมมันก็มือใหม่เหมือนกัน
คร่าวๆ 9 ข้อนะครับ
1. มีความเข้าใจในการบริหารเงินสู่อิสระภาพทางการเงิน
ข้อนี้ถือเป็นเป้าหมายหลัก หรือภาพกว้างๆครับ
เพื่อให้เรารู้ว่า เราควรจะลงทุนไปเพื่ออะไร
ไม่ใช่ว่าลงทุนไปวันๆ วันนี้เก็งกำไรได้กำไรมา 20,000
ซื้อ BB มาแจกหญิง แบบนี้ก็ไม่ใช่
หรือพอร์ตกำลังโต 6หลักปลายๆ 7หลักต้นๆ
แทนที่จะลงทุนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ก็ถอยรถใหม่ป้ายแดงมาขับเล่น ก็ไม่ไหวเหมือนกัน
หากเราเข้าใจถึงการลงทุนระยะยาวเพื่ออิสระภาพทางการเงินของชีวิตแล้ว
เราจะมองภาพในมุมมองที่กว้างขึ้น และเราจะมองไปข้างหน้าได้ไกลขึ้นครับ
หากเรามองไปที่เป้าหมาย วันนี้เราอาจจะยอมออมเงินและลงทุนเพื่ออนาคต
คือ วันนี้อาจจะสุขพอประมาณ แต่เรามองไปที่ความสุขในวันที่เราเดินถึงจุดหมาย
มากกว่าการมีความสุขแบบปัจจุบันทันด่วนครับ!
2. ศึกษาแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า
ซึ่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น ผมว่ามันเป็นการลงทุนที่แปลก
เพราะปกตินั้น High Risk จะมาคู่กับ High Return
แต่การลงทุนแบบ Value Investing นั้น
ที่ผลตอบแทนปานกลางถึงสูง( 15%ขึ้นไป )
ความเสี่ยงจะค่อนข้างต่ำครับ
ซึ่งส่วนนึงก็มาจากการเลือกหุ้นลงทุนของเรานั่นเอง
หากเราลงทุนในหุ้นที่มี Margin of Safety สูง
( MOS = ส่วนเผื่อความปลอดภัย )
ทำให้ต้นเงินของเราปลอดภัยมากยิ่งขึ้นครับ
อีกอย่างก็คือหากเราเลือกหุ้นดีๆ พื้นฐานกิจการแข็งแกร่งนั้น
ยิ่งถือนาน ความเสี่ยงยิ่งลดลงครับ
3. อ่านงบการเงินให้เป็น + วิเคราะห์ธุรกิจให้ออก
งบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด ต้องอ่านให้ออกครับ
ถ้าอ่านไม่ออกก็เสียเปรียบชาวบ้านแย่
และวิเคราะห์ธุรกิจให้ออก เพราะการลงทุนก็คือการที่เราซื้อนาคตของบริษัท
บริษัทนี้เราคาดว่ามันจะเติบโต สร้างผลกำไรให้เรา เราถึงควักเงินซื้อ
3ปี , 5ปี , 10ปี มันจะเป็นอย่างไร
ถ้ามองอนาคต 10ปี ดูไม่ออก
ก็ดู สัก 3ปี พอเราศึกษามันไปเรื่อยๆ เราก็จะเดาทางมันออกเอง ( มั๊ง )
ส่วนสำคัญอีกเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ
เราต้องเข้าใจความหมายของอัตราส่วนทางการเงินครับ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การวิเคราะห์ธุรกิจ หรือ เทรนด์ของธุรกิจ นั่นก็สำคัญเช่นกันครับ
ธุรกิจที่กำลังจะเป็นเทรนด์คลื่นลูกใหม่ บางที งบอาจจะยังไม่สวย
กำไรก็อาจยังไม่ค่อยโต แต่ถ้าเราเห็นผู้คนใช้สินค้าหรือบริการของบริษัทมากขึ้น
ก็อาจจะแปลได้ว่า ไตรมาสต่อไป หรือช่วงเวลานับจากนี้ไป
บริษัทนี้อาจจะมีกำไรดีขึ้นมาแบบก้าวกระโดดก็เป็นได้
อีกอย่างก็ให้ฝึกสังเกตธุรกิจ สินค้า บริการ หรือพฤติกรรมของคนในสังคมครับ
อาจจะช่วยให้เราพบเจอโอกาสดีๆในการลงทุนก็เป็นได้
4. ลงทุน และ ลงทุนเพิ่มอย่างสม่ำเสมอ
ในกรณีที่พอร์ตยังเล็กอยู่ ก็ควรนำเงินออมที่ออมได้มาลงทุนเพิ่ม
เนื่องจะ เก็บไว้ในธนาคารก็ถูกเงินเฟ้อกัดกินไปหมด
เอามาลงทุนจะดีกว่า เนื่องจากการลงทุนในหุ้นเป็นการต่อต้านเงินเฟ้อได้ดีที่สุด
ผลดีอีกอย่าง ก็คือ การออมเงินอย่างสม่ำเสมอ
ถือเป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้เราด้วยครับ
5. สงบ สยบ ความวุ่นวาย
การซื้อขายบ่อยๆ นอกจากจะช่วยให้การตัดสินใจที่ถูกต้องโดนรบกวนแล้ว
ยังสิ้นเปลืองค่าคอมมิชชั่นในการเทรดหุ้นโดยใช่เหตุอีกด้วยครับ
ถ้าวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว ก็ต้องกล้าที่จะปล่อยให้พอร์ตมันรันไปของมัน
หากปรับพอร์ตบ่อยๆ จะเป็นการรบกวนมันเสียเปล่าๆ
เมื่อตัดสินใจซื้อหุ้นตัวใดแล้ว
ให้ถือว่าเราเป็นเจ้าของบริษัทนั้นนะครับ
แล้วก็ให้ลืมราคากระพริบที่อยู่บนหน้าจอไปเสีย
สนใจผลการดำเนินงานของบริษัทเป็นหลักดีกว่าครับ
6. เช็คสุขภาพพื้นฐานบริษัทที่เราเป็นเจ้าของอย่างสม่ำเสมอ
หุ้น คือ ความเป็นเจ้าของ เพราะงั้นเจ้าของควรจะรู้เรื่องราวในบริษัทให้มากหน่อย
ผลการดำเนินการเป็นยังไง กำไรดีไหม ดีขึ้นจากอะไร ลดลงเพราะอะไร
ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไหม เศษฐกิจของประเทศมีผลยังไงต่อกิจการของเรา
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปไหม คู่แข่งเป็นยังไงบ้าง ฯลฯ
ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันครับ ที่เราควรต้องรู้
และประเมินโอกาสของการลงทุนอยู่เสมอ
เช่น ถ้าธุรกิจยังดีอยู่ แต่ราคายัง Under value ก็ควรซื้อเพิ่ม
หรือ Over value ก็อาจจะขายปรับพอร์ตไปถือหุ้นตัวที่ยัง Under value อยู่
( แต่ต้องชัวร์นะว่าคำนวนมูลค่าที่แท้จริงออกมาถูกต้องน่ะ )
7. นำเงินปันผลมาทบต้นไปเรื่อยๆ
ทบก็ดี ไม่ทบก็ได้ แล้วแต่ตัวบุคคลครับ
แต่ถ้าเอามาทบ พอร์ตก็จะโตไวขึ้น ด้วยพลังของการทบต้นครับ
ถ้าอยากให้ตัวเรามีวินัยในการลงทุน ก็สัญญากับตัวเองไว้เถอะครับ
เงินปันผล + เครดิตภาษีทุกบาททุกสตางค์ ฉันจะนำมาทบต้น
แบบนี้ถ้าพอร์ตไม่โตก็ให้รู้ไปครับ :D
8. ให้เวลาพาร่ำรวย
เวลาเป็นเพื่อนที่ดีของกิจการที่แข็งแกร่ง
หากเราเป็นเจ้าของบริษัทที่แข็งแกร่ง
การที่เวลาหมุนเวียนผ่านไป
หากบริษัทเติบโต เจริญก้าวหน้าขึ้น
พอร์ตเราย่อมเติบโตไปในทิศทางเดียวกับบริษัทที่เราเป็นเจ้าของ
เรียกได้ว่าบริษัทรวยขึ้น เราก็รวยด้วยตามบริษัท
มันเป็นตรรกะ มันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันครับ
9. ลงทุนในความรู้อย่างสม่ำเสมอ
เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาครับ
อ่านหนังสือ หรือบทความต่างๆ ดูรายการดีๆ
ก็เป็นอีกทางนึงที่จะช่วยให้เราตามโลกได้ทันครับ
เพราะโลกเราหมุนไวขึ้นมาก เราเองก็ต้องตามมันให้ทันด้วย
ไม่งั้นอาจจะถูกทิ้งไว้หลังเขาได้ หุหุ
ก็คร่าวๆนะครับ สำหรับมือใหม่
ยังไงก็ลงทุนใน " ความรู้ " ก่อนก็แล้วกันนะครับ
เพราะมันจะเป็นการลงทุนที่ไม่มีโอกาสขาดทุน
สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่าน โชคดี และ "มีสติ" ในการลงทุนครับ!
No comments:
Post a Comment