Pages

Sunday, December 18, 2011

0045 : Value Visions 17-12-2011

1.) ต่อไปนี้จะหัดนิสัย "นาฬิกาปลุกปุ๊บตื่นทันที" แล้วครับ
ปกติเวลานาฬิกาปลุกแล้วผมจะขอนอนต่ออีกนิดน่า... ประจำเลย
สุดท้ายก็ไปทำงานแบบเกือบสาย รีบๆร้อนๆประจำ
ซึ่งไม่ดีเลยครับ ทำให้เราไม่มีเวลาเตรียมตัวในการทำงาน
ทางที่ดีควรไปถึงก่อนเวลาสักพัก เพื่อที่จะมีเวลาเตรียมตัว
เตรียมสมอง เตรียมข้อมูลไว้ลุยในงานที่จะต้องทำในวันนั้นๆ
การที่ไปทำงานแบบเกือบสายก็เนื่องมาจากการไม่ยอมลุกขึ้น
จากที่นอนของผมนั่นเองครับ เรียกได้ว่าผมเป็นคนที่ความอดทน
ต่อเสียงปลุกมาก พอนาฬิกาปลุกดัง ผมก็เลื่อนเวลาปลุกอีกไป 10 นาที
ทำอย่างนี้ไปสักสองสามครั้งก็สายพอดี พฤติกรรมแบบนี้ผมว่า
มันเป็นการผลัดวันประกันพรุ่งแบบนึงครับ...
จากนี้ไปผมจะเลิกมันให้ได้ เปลี่ยนตัวเองเสียใหม่
ให้ตื่นมาทุกเช้าแล้วต้องลุกมาอย่างมีพลัง ชีวิตจะได้สดใสในทุกๆวัน!


2.) วันนี้มีเหตุต้องทำให้ผมตื่นแต่ตี 5 เพื่อไปส่งน้องขึ้นรถไปทัศนศึกษา
ที่เชียงใหม่ครับ กลับมาถึงบ้านเกือบ 6 โมงเช้าก็มานอนต่อ ตื่นมาอีกที...
เกือบ 11 โมง ( วันหยุดผมจะไม่ตั้งนาฬิกาปลุก เพื่อให้ร่างกายได้นอน
พักผ่อนชาร์จพลังอย่างเต็มที่ ) พอตื่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันเสร็จ
ก็ไปทานข้าวหมูแดงที่ " ร้านนครปฐม " ครับ ร้านขึ้นชื่อของเชียงรายนะ
( ร้านประจำผมตั้งแต่เด็กน่ะ แหะๆ แต่อร่อยจริงอะไรจริงนะครับ ใคร
มาเที่ยวเชียงรายต้องมาลองชิมให้ได้เลยครับ ) จากนั้นก็ไปเดินดูหนังสือ
ที่ Central ครับ ปากก็บอกว่ามาเดินดูหนังสือ แต่กลับได้กระเป๋าใส่กล้อง
ถ่ายรูปติดไม้ติดมือกลับบ้าน เป็นกระเป๋ายี่ห้อ Manfrotto ครับ ผมเห็นว่า
ขนาดมันกะทัดรัดเหมาะสำหรับใส่กล้องไปเดินเที่ยวชิลๆดีก็เลยสอยมาครับ
โดนค่าเสียหายไป 1,300 บาท แต่ผมยอมนะ เพราะช่วงนี้หลังกะไหล่ของผม
ไม่ค่อยสมบูรณ์สักเท่าไหร่ มักจะปวดเคล็ดบ่อยๆ หากยกของหนักนี่ปวด
ประจำเลย การสะพายกระเป๋าหนักก็ส่งผลเหมือนกัน ผมก็เลยอยากหา
กระเป๋ากล้องใบเล็กๆไว้พกไปนั่นมานี่ครับ


3.) เดินซื้อของเสร็จจาก Central ก็กลับมานอนอ่านหนังสือที่บ้านครับ
ก็อ่านหนังสือเล่มที่เพิ่งซื้อมานั่นแหละครับ ชื่อ " เส้นทางสู่อิสรภาพทางการเงิน
อย่างแท้จริง เริ่มต้นง่าย แค่ใจมองเห็น " อ่านรวดเดียวจนจบเลยครับ
ได้แรงบันดาลใจในการเดินสู่เป้าหมายทางการเงินอีกโขเลยทีเดียว
หากว่ากันตามหนังสือ ก็มีเรื่องที่ผมยังทำไม่ได้ในการวางแผนการเงิน
นั่นก็คือ "การกันเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน" ครับ ซึ่งเงินส่วนนี้เราควรจะมี
ประมาณ 3-6 เท่า ของค่าใช้จ่ายรายเดือนของเรา อย่างผมใช้จ่าย
เดือนละประมาณ 12,000 บาท ผมก็น่าจะมีเงินส่วนนี้อยู่ราวๆ
36,000-72,000 บาท อยู่ในที่ๆมีสภาพคล่องสูงหน่อย ในหนังสือก็แนะนำให้
เก็บไว้ใน บัญชีออมทรัพย์ หรือฝากประจำ ไม่ก็ Money Market Fund ครับ
ผมคงต้องแบ่งเงินออมในแต่ละเดือนเพื่อมากันไว้เป็นส่วนนี้บ้างแล้ว
ซึ่งเงินในส่วนนี้ก็ควรจะมีไว้ก็เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในชีวิตเราครับ
เช่นอาจจะ ป่วย หรือ เกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นกับทรัพย์สินหรือคนในครอบครัว
( เอาง่ายๆ น้ำท่วมบ้าน 2 เดือนแบบที่เจอๆกันเนี่ยแหละ ไม่ก็ตกงานไรงี้ )
บางคนอาจจะเถียงว่า "ก็ฉันก็มีบัตรเครดิตอยู่แล้วจะกลัวอะไร" แบบนี้ก็ต้อง
นึกไปล่วงหน้าถึงวันนี้บิลบัตรเครดิตส่งมาถึงบ้านด้วยนะครับ ว่าถ้าเวลานั้นมาถึง
เราจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายบัตรเครดิต หากเราไม่มีเงินฉุกเฉินก้อนนี้
แล้วรูปแบบการเก็บเงินก้อนนี้ อย่างผมไม่ต้องสงสัยเลยว่าผมเลือก MMF แน่ๆ
เพราะผลตอบแทนสูงกว่าอีก 2 แบบที่เหลือและสภาพคล่องก็แทบไม่ต่างกัน
( MMF T+1 หากจำเป็นต้องใช้เงิน ก็ใช้บัตรเครดิตรูดไป อีกวันก็ขาย MMF
เอาเงินมาชำระบัตรเครดิต ไม่มีปัญหาอยู่แล้วครับท่าน )

อีกอย่างที่ผมขาดไปก็คือการวางแผนในการซื้อประกันชีวิต
ซึ่งผมไม่มีประกันชีวิตที่ซื้อเองเลย ( มีแต่ที่แม่ทำให้ วงเงินไม่มากเท่าไหร่ )
อันที่จริง ผมคิดว่าผมยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ซื้อประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีผมก็เลยไม่สนใจ
แต่บางทีหน้าที่ของมันโดยจริงๆแล้ว มันก็คือประกันชีวิต
ไอ้ที่ลดหย่อนภาษีเป็นแค่ผลพลอยได้เท่านั้น
บางทีผมคงจะต้องมีไว้บ้างครับ ต้องหาข้อมูลแบบประกันบ้างซะแล้ว
ผมไม่ได้ซื้อเพื่อตัวผมเองหรอก แต่ผมซื้อเพื่อคนที่ผมรัก...

ขอพอเท่านี้ก่อนนะครับ
เดี๋ยวคราวต่อๆไปจะเอาประเด็นอื่นๆมาแชร์ให้ฟังอีกนะครับ
หนังสือเล่มนี้ดีมากเลย เข้าใจง่าย ตรงประเด็นมากๆ
( ไม่ได้เป็นอะไรกับคนเขียนนะครับ )

No comments:

Post a Comment