Pages

Saturday, June 25, 2011

0008 : เหตุผลในการลงทุน

ตั้งแต่ต้นปีมา มีคนรอบๆข้างผมหลายคนเลยครับ
ที่มาขอให้ผมสอนเล่นหุ้นให้ที บางคนก็ให้พาไปเปิดพอร์ต

ไอ้การที่เป็นคนสอนเล่นหุ้น หรือพาไปเปิดพอร์ตนี่
สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นภาระหนักเหมือนกันนะครับ
เพราะหากเราคิดจะพาใครเดินเข้าสู่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว
เราก็ต้องดูแลเค้าจนกว่าที่เค้าจะเดินเองได้
คิดเป็น วิเคราะห์เป็น แล้วก็สามารถทำกำไร หรือ เอาตัวรอดเองได้
แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่พอเราพาไปเปิดพอร์ตเสร็จ
แล้วเค้าก็เดินไปในทางของตนเอง
อาจจะไม่ถูกใจกับแนวทาง Value Investing เหมือนผม
อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะมี จริต เหมาะกับการลงทุนแบบไหน
เราคงบังคับใครไม่ได้ จริงไหมครับ ?

ซึ่งจริงๆแล้วส่วนสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเราจะเป็นนักลงทุนแนวไหนหรอกครับ
อันที่จริงมันน่าจะอยู่ที่เหตุผลเริ่มแรกในการลงทุนของเรามากกว่า

ว่า "เราลงทุนไปเพื่ออะไร ?"


หลายคนไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่แรก
บางคนอาจจะเข้ามาลงทุนเพราะเห็นแค่ว่า
มีคนทำกำไร สร้างผลตอบแทนได้สูงๆ
เลยอยากหาเงินได้เยอะๆตามบ้าง
เพราะคิดว่าการลงทุนมันเป็นการหาเงินแบบง่ายๆ
แบบนี้ก็มีนะครับ (ถ้ามาลงทุนเพราะเหตุผลนี้โอกาสรอด ยากส์!)
การที่เป้าหมายไม่ชัดเจน ทำให้แนวทางการลงทุนนั้นแปรเปลี่ยนได้ง่าย
จนอาจจะทำให้กลายเป็นสะเปะสะปะไปเสียนั่นแหละครับ

เราต้องจดจำเป้าหมายของเราไว้ให้มั่นครับ
ดังคำที่ว่า "เป้าหมายให้สลักไว้บนหินผา แต่วิธีการนั้นให้เขียนลงบนผืนทราย"
เป้าหมายสลักไว้ ไม่แปรเปลี่ยน แต่วิธีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ครับ
เราต้องแยกข้อนี้ให้ออก...



ทีนี้มาดูว่าเหตุผลในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของเรามีอะไรบ้าง


1. ลงทุนเพื่อสร้าง passive income เพื่ออิสรภาพทางการเงิน
มา Blog นี้ก็ต้องข้อนี้เป็นเป้าหมายแรกแหละครับ หากเรามีเป้าหมายนี้ไว้ในใจ
ทำให้เราจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง ถอนทุนออกจากพอร์ตไปใช้จ่ายบ่อยๆ
เพราะเราต้องการสร้างผลตอบแทนแบบ passive income ที่มากพอ
ที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้


2. บางคนก็ลงทุนเพื่อรักษามูลค่าของทรัพย์สิน
(สำหรับคนที่รวยอยู่แล้ว หรือ คนที่สร้างเนื้อสร้างตัวมาจากข้อ 1.)
ลองคิดดูว่า หากคุณลงทีจนมีพอร์ต 100ล้าน พันล้าน คุณจะหยุดลงทุนหรือไม่ ?
จะขายหุ้นล้างพอร์ตทิ้งแล้วเอาเงินไปนอนนิ่งๆกินดอกเบี้ยในธนาคารรึเปล่า ?
คงไม่ใช่ เพราะถ้าหากทำอย่างนั้นจริงๆ ความมั่งคั่งที่สั่งสมมาอาจจะถูกเงินเฟ้อ
ริดรอนมูลค่าในตัวมันจนหมด (จากที่รวยในรุ่นปู่ อาจจะกลับมาจนในรุ่นหลาน)


3. ลงทุนเพื่อการกุศล
คนที่รวยแล้ว อาจจะลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน แล้วเอาผลตอบแทนนั้นคืนสู่สังคม
อย่างเช่น บัฟเฟตต์ หรือ จอร์จ โซรอส หรือคนที่มีฝีมือด้านการลงทุนก็อาจจะรับ
บริหารเงินให้กับมูลนิธิ องค์กรการกุศล หรือ แม้กระทั่งอาจจะบริหารให้กับญาติๆก็ได้
(สำหรับผมการบริหารเงินให้กับคนที่เรารักก็เป็นการช่วยเขาอย่างนึงนะ)


4. อยากเป็นเจ้าของบริษัท
บางคนอยากเป็นเจ้าของกิจการ แต่อาจจะไม่ลงมือทำเอง ซื้อหุ้นเอา ถ้ารวยหน่อย
ก็ซื้อเยอะหน่อย อย่าง บัฟเฟตต์ ไง ชอบบริษัทไหน อยากเป็นเจ้าของบริษัทไหน
ก็เทคโอเวอร์มาซะ เป็นเรื่องปกติใช่ไหมครับ ที่เราจะอยากเป็นเจ้าของบริษัทดีๆ


5. อยากหารายได้เพิ่ม
ขอแบ่งข้อนี้เป็น 2 ข้อนะครับ

5.1 อยากหารายได้เพิ่มจาก จาก passive income
มีบางคนลงทุนในหุ้นโดยอยากได้รายได้เพิ่มจากเงินปันผล และไม่ได้หวังจะรวยเร็วๆ
คือมีรายได้จากงานประจำอยู่แล้ว แล้วก็นำมาซื้อหุ้นปันผลเพื่อเป็นโบนัสให้กับตัวเอง
พอปันผลออก ก็นำมาให้รางวัลตัวเอง ไปเที่ยวโน่นเมืองนอกบ้าง ซื้อของที่อยากได้บ้าง
แบบนี้ผมว่ามันก็มีความสุขไม่หยอกนะ


ส่วน 5.2 ข้อนี้เป็นเหตุผลของหลายๆคน(เท่าที่เจอมานะครับ)
บางคนเห็นคนใกล้ตัวเล่นหุ้นแล้วมีกำไร ก็อยากเล่นบ้างนึกว่ามันง่าย
โดดเข้ามาร่วมวงแบบไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง กลายมานักเก็งกำไร
หาค่ากับข้าวรายวัน กำไรมาก็เอามาใช้จ่าย เลี้ยงหญิง เลี้ยงเพื่อน
(แต่ตอนขาดทุนไม่ยักกะมีคนเลี้ยงบ้างฟระ)
เหตุผลนี้เป็นเหตุผลที่อันตรายที่สุดในการเข้ามาลงทุนครับ
เพราะมันทำให้เราเดินผิดทางตั้งแต่แรก และมันไม่มีวันโต


แต่ถ้าใครเข้ามาลงทุนโดยไม่มีเป้าหมายหรือเข้ามาตามเหตุผลข้อ 5.2
ก็ไม่ต้องเสียใจไปครับ เรากลับมาคิดทบทวนใหม่ได้นี่ ว่าจริงๆแล้ว
เราต้องการลงทุนเพื่ออะไรกันแน่ ?


อันที่จริงอาจจะมีเหตุผลอื่นอีกมากมายนะครับ
บางคนก็อาจจะลงทุนระยะสั้นๆเพื่อพักเงินก้อนนึงไว้ใช้จ่าย
เช่นอาจจะลงทุนระยะสั้น 3เดือน 6เดือน หรือ 1-2ปี
ไว้เพื่อดาวน์รถ หรือดาวน์บ้าน แต่ผมไม่ขอพูดถึงนะครับ
เพราะถ้าจะลงทุนด้วยเหตุผลนั้นจริงๆ ผมไม่แนะนำให้เอามาลงทุนในหุ้น
เนื่องจากระยะสั้นๆมันมีความผันผวนสูงครับ


สุดท้ายนี้ก็ขอให้ผู้ที่คิดจะเข้ามาลงทุนในหุ้นทุกท่าน
หาคำตอบจากตัวเราเองก่อนว่า เราลงทุนไปเพื่ออะไรกันแน่ ?
เราจะได้เลือกทางเดินที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มเดินครับ

Thursday, June 23, 2011

0007 : คำชี้แนะจากพี่ Sai

สืบเนื่องจากวันที่ไปเข้าคอร์สหุ้น 10เด้ง ของคุณฮง
ผมไปถึงแต่เช้า ก็เลยได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ซาอิ
ก็ได้ขอมุมมองและให้พี่ซาอิ commentหุ้นให้หลายตัวทีเดียว


นอกเหนือจากมุมมอง comment หุ้นหลายๆตัวแล้ว
ก็ได้ "หลักคิด" ดีๆจากพี่ Sai มาด้วยครับ

คือก่อนหน้านั้นคุยกันถึงหุ้นหลายๆตัว
ก็ถามพี่ซาอิว่าจะไปขายที่เมื่อไหร่
พี่ซาอิก็ตอบมาว่า จะไปขายที่ราคา...
ซึ่งเผื่ออัพไซด์ให้คนซื้อไว้ประมาณ 10%

เวลาเราขายหุ้น เราต้องคิดมุมกลับด้วย
ว่าเวลาคนที่จะมาซื้อหุ้นต่อจากเรา
เค้าหวังผลตอบแทนกี่ %
ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 10%

เพราะงั้นเวลาเราจะทยอยขายหุ้น
ก็น่าจะเผื่ออัพไซด์ไว้ให้กับคนที่มาซื้อสัก 10% ด้วย


ผมก็เอามาคิดต่อนะ เช่น
สมมุติว่าหุ้นตัวนึง ตอนซื้อมา เรามีราคาในใจ Fair Value ที่ 11 บาท
พอหุ้นขึ้นมาถึง 10 บาท เราก็ค่อยทยอยขาย
คือเผื่อ ผลตอบแทน ให้คนที่มาซื้อต่อจากเราไว้ 10%
( กรณี ถ้าหุ้นวิ่งจาก 10บาทไป 11บาท )


ถ้าเราตั้งราคาขายไว้ Over Value มากๆ
คงไม่มีใครอยากซื้อหุ้นจากเรา
ในที่สุดราคาหุ้นก็จะตกลงมาในราคาที่คนยอมจ่ายอยู่ดี


ซึ่งพอได้อ่านหนังสือ นักลงทุนดันโด
Mohnish Pabrai ก็ได้บอกว่าให้ทยอย
ขายหุ้นเมื่อราคาวิ่งมาถึง 90% ของมูลค่าที่แท้จริงเช่นกัน


บางทีการทำกำไรให้ได้มากๆ อาจไม่ใช่มากที่สุด
แต่มันน่าจะหมายถึงกำไรที่เหมาะสมด้วย

0006 : คำชี้แนะจากพี่ Invisible Hand

คำถามหรือคำสงสัย มีวิธีแก้อยู่ 2 วิธี
1. หาคำตอบ และ
2. ลืมมันไปซะ
ก่อนที่โลกนี้จะมี Internet และ google
ผมเลือกแบบที่ 2. เสียเป็นส่วนใหญ่
แต่ปัจจุบัน ผมพบว่าบางทีหากเราจะเลือกข้อ 1.
มันก็ไม่ได้ยากเย็นเกินไปนัก

ผมมีความสงสัยเกี่ยวกับการลงทุนอยู่หลายข้อ
ซึ่งความสงสัยที่ว่า บางที google ก็ตอบเราไม่ได้
ผมก็เลยต้องลองถามจากผู้รู้

ผู้รู้อย่างพี่ Invisible Hand ผู้ใจดี
ได้อุตส่าห์เสียสละเวลามาตอบคำถามผ่าน webboard

วันนี้จึงนำคำชี้แนะมาแบ่งปันให้เพื่อนๆครับ
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ
ขอบคุณพี่ Invisible Hand ที่ชี้แนะให้ความรู้ครับ



1. อยากจะเรียนถามพี่ IH ถึงวิธีการคิดราคาทุนของหุ้นครับ

อยากของ อ.เทพ รุ่งธนาภิรมย์ แสดงวิธีคิดไว้ว่า
สมมุติว่าเรามีหุ้นต้นทุน 10บาท 10000หุ้น
ขายออกไป 5000 หุ้น ในราคา 20บาท/หุ้น

ท่าน อ.เทพ เอากำไรจากส่วนต่าง 5000หุ้น
ที่ขายออกไปมาหักกับต้นทุนที่เหลือเดิม
ซึ่งต้นทุนหุ้นที่เหลืออยู่ 5000 หุ้นจะลดลงเหลือเท่ากับ 0 บาท

การคิดผลตอบแทนแบบนี้
ไม่ทราบว่าพี่ IH มีความเห็นอย่างไรมั่งครับ ?

ส่วนตัวผมเวลาเก็บข้อมูลไม่ได้เก็บข้อมูลพอร์ตด้วยวิธีนี้นะครับ
หากคิดแบบนี้มันจะเป็นการเข้าข้างตัวเองเกินไปหรือไม่ครับ
อยากจะข้อความเห็นพี่ IH น่ะครับ


อีกอย่างก็คือเวลาเราได้ปันผลมา
แล้วเอามาหักกับต้นทุนของราคาหุ้น
เช่น ราคาทุน 10บาท/หุ้น ได้ Div 1บาท/หุ้น
เหลือต้นทุน 9บาท

แบบนี้ไม่น่าจะถูกนะครับผมว่า
มันจะซ้อนทับกับเวลาเราเอาเงินปันผลไปซื้อหุ้นเพิ่มหรือไม่ครับ
ขอมุมมองของพี่ IH หน่อยครับ


พี่ IH ตอบ - หลักที่ว่ามานั้นก็เป็นการสอนให้ทำกำไรไปบ้าง
เพื่อลดความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะลดลงมา
จากจุดสูงสุดหรือใกล้เคียงกับของเดิมครับ

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีกลยุทธ์ใดๆ ที่มีแต่ข้อดีและไม่มีข้อเสียครับ
หุ้นหลายตัวที่มีธุรกิจดีจริงๆ ราคาหุ้นสามารถขึ้นไปได้มากกว่า 2 เท่าครับ
ดังนั้นการขายหุ้นเมื่อได้กำไร 2 เท่าตัว
ก็อาจจะพลาดโอกาสหากหุ้นจะขึ้นไป 3-4 เท่าหรือมากกว่านั้นได้ครับ

ดังนั้นกลยุทธ์นี้อาจจะเหมาะกับนักลงทุนที่
อาจจะไม่สามารถประเมินราคาหุ้นได้ดัวยตัวเองนัก
เมื่อหุ้นขึ้นอาจารย์ก็เลยแนะนำให้ขายไปเพื่อลดความเสี่ยงและ
ลดโอกาสขาดทุนหากหุ้นลงกลับมาต่ำกว่าทุนครับ

แต่นักลงทุนแนว VI ที่มีประสบการณ์ ความรู้และข้อมูลที่ดีพอ
ก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้ครับ



2. อีกคำถามก็คือ
หากตลาดหุ้นขึ้นไปแรงๆ
จนหุ้น over value
( เกิดฟองสบู่ )
ดอกเบี้ยเงินฝากแตะ 2 หลักเนี่ย
มีกองทุนตราสารหนี้หรือผลิตภัณฑ์การเงินอะไรที่จะสามารถโยกเงินเข้าไปพัก
โดยความเสี่ยงต่ำลงได้บ้างครับ
หรือให้เก็บเข้าไว้ในเงินฝากจะดีกว่าครับ

(สำหรับข้อนี้ผมถามเพราะกะว่า หากดอกเบี้ยฝากแตะ 2หลักเนี้ย
ดอกเงินกู้ยิ่งต้องสูงกว่า บริษัทที่มีหนี้เยอะๆคงจะเหนื่อยแย่
หารายได้มาเท่าไหร่ก็ต้องเอามาจ่ายดอกเบี้ย ส่วนตัวนักลงทุนรายย่อยนั้น
หากเอาเงินมาลงทุนในตราสารหนี้ ก็ได้ผลตอบแทน 2หลักได้สบายๆ
เราจึงน่าจะโยกเงินมาลงทุนในตราสารหนี้ รอวันฟองสบู่แตก
ตลาดหุ้นล่มสลายค่อยเข้าเป็นเก็บหุ้นถูกๆ แบบนี้น่าจะดีกว่า ,
หรือไม่ก็เลือกลงทุนในบริษัทที่หนี้น้อยๆ แต่ยังไงก็ห้ามลืม MOSเด็ดขาด)


พี่ IH ตอบ - ถ้าหุ้นขึ้นแรงๆ แล้วอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นไป 2 หลัก
แสดงว่าราคาพันธบัตรจะต้องลดลงไปมาก
เราควรจะต้องซื้อกองทุนตราสารหนี้
เพื่อจะหวังกำไรส่วนแบ่งราคาเมื่อดอกเบี้ยลดลงมาครับ

Sunday, June 5, 2011

0005 : Leverage by Other People's Money

เค้าว่ากันว่า ถ้าอยากรวยเร็วๆ
ต้องพึ่งพาคนอื่นครับ
ไม่ว่าจะเป็น เวลาของคนอื่น ( ให้คนอื่นทำงานให้เรา )
ไม่ก็ เงินของคนอื่น ( เอาเงินคนอื่นมาลงทุนนั่นเอง )
โดยเฉพาะอย่างหลังที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนอย่างเราๆ

เงินของคนอื่น คือเงินของใคร ?
ใครก็ได้ครับที่เค้าให้คุณยืมเงิน
พอ่แม่ แฟน พ่อตาแม่ยาย เพื่อน ญาติ ธนาคาร หรือ บริษัทหลักทรัพย์

กู้เงินมาลงทุน เสี่ยงมากขึ้น
แต่ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากขึ้น

ยกตัวอย่างนะครับ
สมมุติว่า ผมมีเงินทุนตัวเองอยู่ 1,000,000 บาท
หากผมนำเงิน 1ล้านไปลงทุนในหุ้น
1 ปี ได้ผลตอบแทนมา 20%
ปลายปีพอร์ตผลจะเท่ากับ 1.2ล้านบาท

แต่สมมุติว่า ผมมีเงิน 1ล้าน ทุนของผมเอง
และ ยืมเงินแม่มาอีก 1ล้าน
นำมาลงทุนในหุ้น ได้ผลตอบแทน 20%
ปลายปีผมจะมีพอร์ต 2.4ล้านบาท
ขายหุ้นออกมาให้ได้เงิน 1ล้าน นำเงินไปคืนแม่
ผมจะเหลือมูลค่าพอร์ตสุทธิ 1.4 ล้านบาท
เท่ากับว่าผมลงทุน 1ล้าน ได้กำไร 4แสน
ผลตอบแทนเท่ากับ 40% เลยทีเดียว

แต่บางทีพ่อแม่ แฟน หรือ ญาติเราก็ไม่ได้มีเงินมากมายให้เรายืม
เราก็ต้องหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกแหละครับ
ไม่ว่าจะเป็นกู้ธนาคาร สหกรณ์ หรือ
การซื้อหุ้นโดยใช้ margin กับ บริษัทหลักทรัพย์
ซึ่งเงินทุนจากแหล่งเงินทุนเหล่านี้นั้นย่อมมีดอกเบี้ย
อาจจะ 5% 8% แล้วแต่แต่ละแห่งครับ

ทีนี้ลองมาดูว่าหากเรากู้เงินจากแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ย
ผลจะเป็นอย่างไร ? ในสถานการณ์เดียวกันนะครับ
เงินทุนตนเอง 1 ล้าน , กู้เงินมาลงทุน อีก1 ล้าน ดอกเบี้ย5%
ผลตอบแทน 20%
ปลายปีเราจะมีเงิน 2.4 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 5%
เท่ากับ 50,000 บาท คืนเงินกู้ไปอีก 1 ล้าน
จะเหลือเงินอยู่ 1.35 ล้านบาท เท่ากับกำไร 35%
ก็ยัง ok อยู่ใช่ไหมครับ

แต่ถ้าเกิดเราขาดทุนล่ะ ?
สมมุติฐานเดียวกัน
ทุนตนเอง 1 ล้าน , กู้ 1 ล้าน , ดอกเบี้ย 5%
ผลตอบแทน -20%
ปลายปีเราจะเหลือมูลค่าพอร์ต 1.6 ล้านบาท
หักต้องจ่ายดอกเบี้ย 50,000 คืนเงินกู้อีก 1 ล้าน
จะเหลือมูลค่าพอร์ตสุทธิเพียง 550,000 บาท
เท่ากับว่าเราขาดทุน 45% เลยทีเดียวครับ
เจ็บก็ยิ่งเจ็บหนักครับ หากว่าเรากู้เงินมาลงทุนแล้วขาดทุนนะ
ผลขาดทุนก็จะยิ่งเป็นทวีคูณ

ยิ่งถ้าเป็นบัญชี margin หากหุ้นตกลงมามากๆ
เราอาจโดน Force sell คือ บังคับขาย ณ ราคาต่ำๆนั้น ได้นะครับ

การลงทุนด้วยเงินกู้ จึงมีความเสี่ยงสูงครับ
หากไม่เจอหุ้นตีแตกจริงๆ
อย่าได้ไปหยิบยืมเงินชาวบ้านมาลงทุนครับ
เงินธนาคาร หรือ margin เราเสียแค่เงิน
แต่ถ้าเป็นเงินของคนใกล้ตัว
บางทีอาจจะทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหาได้
ไม่ชัวร์ก็อย่าเสี่ยงเลยครับ
แม้ถ้ากำไร จะกำไรมากขึ้นก็ตาม

แต่ถ้าเจอหุ้นตีแตก ก็ลองพิจารณาดูครับ
ว่าโอกาสทองนี้เหมาะสมจะใช้ "เงินคนอื่น"
มาเร่งความมั่งคั่งของเราหรือไม่ ?


สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโชคดี และ "มีสติ" ในการลงทุนครับ

Thursday, June 2, 2011

0004 : โมเดลออมเงินสู่ความมั่งคั่ง

ผมเชื่อว่าคนเราทุกคนสามารถรวยหรือมั่งคั่งได้
จาก พลังของผลตอบแทนแบบทบต้น ครับ

แม้จะเป็นคนที่มีรายได้ก็ตาม
ขอเพียงแค่มีความรู้ด้านการลงทุน
มีวินัยทางการเงิน
ออมเงิน และ ลงทนอย่างสม่ำเสมอ
แค่นั่นก็เพียงพอแล้วครับ
ที่จะเปลี่ยนฐานะจาก จน , ปานกลาง
สู่ "ความมั่งคั่ง" และมี "อิสรภาพทางการเงิน"


ผมเคยลองคิดโมเดลการออมเงินเล่นๆ ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า
หากเราออมเงินปีละเท่าๆกันทุกปีต่อเนื่อง และนำเงินไปลงทุน
ให้ได้ผลตอบแทน 10% ต่อปี โดยนำผลตอบแทนที่ได้ไปลงทุนต่อ
เพื่อให้เกิดการทบต้น จะสามารถเปลี่ยนฐานะเราได้มากแค่ไหน


ลองมาดูกันครับ เอาตัวอย่างแรกก่อนนะครับ

ถ้าคนๆหนึ่ง ออมเงินนำเงินมาลงทุน ปีละ 36,000 บาท ทุกปี
( คิดเสียว่าออมเงินเดือนละ 3,000 บาท )
โดยให้ได้ผลตอบแทนปีละประมาณ 10%
ผลตอบแทนที่ได้ไม่ชักออกมาใช้จ่ายแต่ให้นำไปลงทุนต่อ
เพื่อให้เกิดพลังของผลตอบแทนแบบทบต้น

30 ปีผ่านไป คนๆนี้จะมีพอร์ตเงินลงทุนประมาณ 6ล้านบาท
( จริงๆแล้ว 5.9 ล้านกว่าๆ )

ผลตอบแทนปีแรก จากเงินต้น 36,000 = 3,600 บาท
แต่ผลตอบแทนปีที่ 30 นั้นเท่ากับ 592,178 บาท เลยทีเดียว

ซึ่งถ้าไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมาก ผลตอบแทนปีละ 590,000 บาท
เท่ากับเดือนละประมาณ 49,000 บาท

ก็สามารถเลี้ยงตัวหลังเกษียณได้อย่างสบายๆ


คนที่คิดจะออมเพื่อเกษียณอาจจะเอาไอเดียนี้ไปใช้ก็ได้นะครับ
ขอแค่มีวินัยในการออมและความรู้ในการลงทุน
บางทีอาจจะลงทุนในกองทุน Index Fund แทนการจัดพอร์ตเอง
ก็สามารถทำได้แล้ว ( ผลตอบแทน Index Fund ก็ไม่ได้แย่อะไร )
แค่วินัยทางการเงินจริงๆครับ

จะเห็นได้ว่าปีแรกผลตอบแทน 3,600 บาท
เทียบกับปีที่ 30 จะมีผลตอบแทน 590,000 บาท
เพิ่มขึ้นถึง 164 เท่าเลยทีเดียว

นี่คือพลังของผลตอบแทนแบบทบต้นครับ

หากนำมา plot เป็นกราฟ
เส้นของผลตอบแทนปีแรกๆจะไม่ค่อยโค้งขึ้นเท่าไหร่
แต่ปีหลังๆจะชันขึ้นอย่างมากเลยครับ

นี่ยังไม่รวมถึงความรู้ , ประสบการณ์การลงทุน
ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้อาจมีโอกาส
สร้างผลตอบแทนได้มากกว่า 10% อีกด้วยนะครับ


แต่ทั้งหมดนี้มันก็อยู่ที่ตัวเรานั่นแหละครับ
ว่าจะอดทน ตั้งหน้าตั้งตาลงทุนต่อเนื่องพอหรือไม่ ?



ที่นี้มาถึงอีกเคสนึง สมมุติว่า เราเปลี่ยนจากออมปีละ 3,600
มาเป็นออมปีละ 120,000 บาท , ซึ่งไม่ถึอว่าเยอะนะครับ
สำหรับคนที่มีวินัยทางการเงินดีๆ
การออมเงินเฉลี่ยเดือน 10,000 บาทเนี่ย ทำได้สบายๆ
อาจจะออมจากเงินเดือน 5,000 บาทต่อเดือน
ทั้งปีเท่ากับ 60,000 บาท แล้วก็บวกกับโบนัสอีกสัก 60,000
ก็ครบ 120,000 สบายๆ ปีหลังๆยิ่งสบายใหญ่เพราะเงินเดือนเพิ่มทุกปี
แต่เราหักออมเท่าเดิม ( ใครจะออมเพิ่มขึ้นก็ไม่ว่ากันนะครับ )

ที่ผลตอบแทน 10% ต่อปี
ปีแรกเราจะมีผลตอบแทนเท่ากับ 12,000

ปีที่สอง ผลตอบแทนจะเท่ากับ 25,200
จากต้นเงิน คือ 132,000 ทุน 120,000 ในปีแรก + ผลตอบแทน 12,000
+ 120,000 เงินลงทุนเพิ่มในปีที่สอง = 252,000 บาท

ปีที่ 7 จะมีเงินล้านแรก คือพอร์ตจะเท่ากับ 1.1 ล้านบาท

ปีที่ 10 พอร์ตเราจะกลายเป็น 1.9 ล้านบาท

ปีที่ 20 จะกลายเป็น 6.8 ล้าน

และปีที่ 30 จะเพิ่มเป็น 19.7 ล้านบาทเลยทีเดียว

หากเราเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 23 พออายุ 55
ตามโมเดลนี้เราจะมีเงินถึง 26.6 ล้านบาท
คิดที่ผลตอบแทน 10% จะเท่ากับว่า
เราจะมี income ประมาณ 2.6 ล้านบาทต่อปี
นั่นก็คือเท่ากับ เดือนละประมาณ 210,000 เลยทีเดียว
เพียงพอกับการเกษียณไปใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในบั้นปลาย

ซึ่งจริงๆแล้วเราจะมีอิสรภาพทางการเงิน
ก่อนหน้าที่เราจะเกษียณด้วยซ้ำ

การมีอิสรภาพทางการเงินจะช่วยให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น
นั่นหมายถึง เราจะมีความสุขในขั้นพื้นฐานได้ง่ายขึ้นครับ

ทั้งหมดนี้ ต้องการเพียงแค่
วินัยทางการเงิน และ ความรู้ทางการลงทุน

ซึ่งสร้างได้ไม่ยาก แต่ก็รักษามันไม่ง่ายเช่นกัน

ดังนั้นหากอยากมีชีวิตที่ดีในวันข้างหน้า
เราก็ต้องแลกครับ ในวันนี้เราก็ต้องอดทน

อดเปรี้ยวไว้กินหวาน อร่อยกว่ากันเยอะเลย !


สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่าน โชคดี และ "มีสติ" ในการลงทุนครับ !