S : อยากเทรดอย่างสบายใจ แต่ก็ยังกังวลอยู่บ่อยๆใช่ไหมครับ ?
.
.
P : ที่เทรดเดอร์มักจะมีความกังวล นั้น มีทั้งสาเหตุที่เกี่ยวกับ Positions ที่เทรด และเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเทรดโดยตรง อาจจะเป็นเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งมันแยกกันไม่ออก โดยจะมีสาเหตุ ดังนี้ครับ
1 เทรดหนักเกินกว่าที่ใจจะรับไหว จึงทำให้กังวลใจอยู่ข้างในลึกๆ
2 มีความกังวลในด้านอื่นๆของชีวิต เช่น มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนรอบตัว ทะเลาะกับคนรัก หรือ มีเรื่องค้างคาที่รบกวนจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน สุขภาพ การจัดการเวลา รวมถึงความรักผิดชอบเรื่องอื่นๆในชีวิต
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่มีความสุข สมองคิดวนเวียนเต็มไปด้วยความกังวลจริงไหมครับ ?
.
.
I : การที่สมองเราถูกแบ่งออกไปคิดกังวลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆมากมายนั้น ทำให้เราขาดประสิทธิภาพครับ การตัดสินใจก็จะแย่ลง ส่งผลให้ Performance การเทรด บางครั้งความหงุดหงิดที่สะสมไว้ ก็จะทำให้อารมณ์เข้าครอบงำเราได้อีกด้วย การจะเทรดหนักๆ หรือ ช่างแม่ง ล้มกระดาน ก็มีโอกาสเกิดได้มากขึ้น สุดท้ายเราก็จะมานั่งรู้สึกเสียดาย เสียใจมากๆกับการกระทำในช่วงที่เราทำตามอารมณ์อีกใช่ไหมครับ ?
.
.
N : การจะเทรดอย่างสบายใจ ต้องรักษาในมิติต่างๆของชีวิตให้มีความสมดุลครับ สำหรับตัวผมนั้น การสร้างรากฐานที่ดีให้กับการเทรดนั้นจะเริ่มจาก…
.
1 การเงินพื้นฐานต้องแน่น
- จัดการรายได้-ค่าใช้จ่ายให้สมดุล เพื่อมี Free Cash Flow Feed เข้าพอร์ตมาเรื่อยๆ
.
- สร้างแหล่งเงินทุนสำรองไว้อีกก้อน สัก 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เช่นในช่วง Lock Down จาก Covid-19 ที่หลายๆคนมีสภาพคล่องที่ลดลง บางคนก็ต้องหยุดทำงาน ขาดรายได้
.
- ป้องกันความเสี่ยงด้วยประกันชีวิต ประกันภัยต่างๆให้พร้อม เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงหากเกิดเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ๆออกไป ทำให้ช่วยให้เราไม่ต้องไปดึงเงินทุน หรือ ดึงกำไรจากพอร์ตออกมาใช้ในยามที่จำเป็นครับ
.
- แยกพอร์ตเกษียณออกไปต่างหาก เป็นพอร์ตสำหรับเงินที่เราจะใช้หลังเกษียณจากการทำงาน วางแผน Feed เงินเข้าไปให้เพียงพอหากถึงเวลานั้น
.
ทั้งหมดนี้คือการเงินพื้นฐานที่เราต้องจัดการมันให้ดีครับ เพื่อให้เราเทรดได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องรีบร้อน รีบรวย สามารถทำตาม Process ได้อย่างใจเย็น
.
ส่วนตัวผมเอง ช่วงที่เข้ามาในตลาดใหม่ๆ เคยสนใจแต่เรื่องเทรด แต่ละเลยเรื่องการเงินพื้นฐานไปเหมือนกันครับ เพราะคิดว่า เงินจากการเทรดมันหาง่ายมากๆ เรื่องการเงินพื้นฐานคงไม่จำเป็นเท่าไหร่หรอก เรื่องเล็กๆน่า แต่พอเทรดไปสักพัก ก็พบว่าการที่การเงินพื้นฐานของเราไม่พร้อม ไม่แน่นพอ มันทำให้มีเรื่องที่รบกวนเงินทุนในพอร์ตบ่อยๆ เดี๋ยวถอนๆ ถอนกำไรบ้าง ถอนทุนบ้าง การเทรดก็ทำตาม Process ได้ไม่ดี รีบทำกำไรตลอด พอติดดอยก็ทุกข์ กลัวเงินหาย ซึ่งมันมาจากการที่ใจเรารู้สึกขาด ไม่สมบูรณ์พูนสุข พอกลับมาจัดระบบการเงินพื้นฐานให้ตัวเอง ก็ทำให้มีความสุขมากขึ้นเยอะเลยครับ เทรดตามระบบ กำไรก็สะสมเพิ่มพูนขึ้นมาต่อเนื่องครับ
.
2 สุขภาพกายดี
“มีเงินมากมายเท่าไหร่ ก็เทียบกับสุขภาพที่ดีไม่ได้” หากเรามีเงิน แต่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงก็คงไม่มีความสุขเป็นแน่ การเทรดเป็นสิ่งที่ต้องใช้สมอง ใช้ความคิด ในการตัดสินใจ หากเราร่างกายแย่ สมองเราจะไม่อยู่ในโหมดที่พร้อมคิด พร้อมสร้างสรรค์ครับ เนื่องจากมีแต่ความกังวล ต้องการเอาชีวิตรอด ยิ่งหากเป็นช่วงที่ป่วย ก็แทบอยากพัก อยากนอน ไม่อยากทำอะไร เรื่องเทรดนี่ไม่ต้องคิดเลยทีเดียวครับ
.
สำหรับด้านสุขภาพหลักๆแบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ การนอน การกิน การออกกำลังกาย
.
การนอน ก็จัดเวลานอนให้เพียงพอ บางคนอาจจะยอมแลกการนอนให้น้อยลง เพื่อที่จะให้มีเวลาเทรด มีเวลาทำงานมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะได้ไปถึงความสำเร็จให้ไวขึ้น ซึ่งผมเคยโหมเทรด โหมทำงานหนัก ยอมนอนน้อย นอนวันละ 4 ชั่วโมง ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพเลย ทำให้ป่วยบ่อย ป่วยง่าย หงุดหงิดง่าย สุดท้ายการพยายามรีบเร่ง กลับกลายเป็นการทำให้เราไปได้ช้าลงเสียอีกครับ เนื่องจากเราต้องหยุดพักฟื้นร่างกาย ผมก็เลยค้นพบว่า การที่เดินหน้าไปในจังหวะของเรา รักษาสมดุลกายใจให้ดี จึงเป็นทางที่ไวที่สุดแล้วครับ
.
วิธีการง่ายๆของผมก็คือ ตั้งนาฬิกาปลุกก่อนช่วงเวลาเข้านอนสัก 15 นาที เพื่อให้เราได้จัดการอะไรก็ตามที่ทำอยู่ให้เสร็จและก็เตรียมตัวเข้านอน แล้วก็ตั้งอีกครั้งในช่วงเวลาที่เราตั้งใจจะเข้านอน ลองคำนณจากเวลาตื่นของเราก็ได้ครับว่าเราสมควรจะเข้านอนตอนกี่โมง เช่น ชีวิตผมเป็นไฟต์บังคับอยู่แล้วว่าจะต้องตื่น 6:00 น. และ ผมต้องการนอนให้ได้ 7 ชม. เพราะงั้นผมต้องเข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม ผมก็ตั้งเวลาปลุกรอบแรก 22:45 น. และอีกรอบตอน 23:00 น. เป็นต้นครับ
.
การกิน กินอาหารที่มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพในระยะยาว ลดพวกของทอด ของมัน ของหวาน โดยเฉพาะน้ำตาล ก็จะช่วยให้ร่างกายเราดีขึ้นครับ ส่วนตัวผมทำ IF 12-16 ชม. ประกอบด้วยครับ เพื่อให้ร่างกายได้มีจังหวะฟื้นฟูตัวเองบ้าง
.
การออกกำลังกาย ผมเลือกเดิน , วิ่ง และ ยืดเหยียด เป็นหลักในการออกกำลังกาย เพราะมันเรียบง่ายดี วันไหนวิ่งก็ตั้งเวลาไว้ว่าจะวิ่ง 1 ชม. วันไหนพักจากการวิ่งก็เดินให้ครบ 10,000 ก้าว ช่วงดึกๆ หลังตื่นนอน และ ระหว่างวัน (ซึ่งต้องนั่งทำงานนานๆ) จะใช้การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกัน Office Syndrome ครับ
.
3 มีความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยม
ชีวิตเราจะมีความสุข จากความสัมพันธ์ที่ดีครับ ทั้งกับตัวเองและกับคนรอบข้าง หากความสัมพันธ์แย่ จะมีเรื่องให้ต้องปวดหัว รบกวนการเทรดอยู่ตลอด หรือไม่ก็ทำเป็นลืม เก็บซ่อนมันไว้ให้มิดชิดที่สุด แต่สุดท้ายก็จบระเบิดออกมาอยู่ดี หรือ ต้องอยู่ในความสัมพันธ์ที่ Toxic ก็รบกวนใจเราได้เช่นกันครับ หากอยู่ในสถานการณ์ประเภทนี้ก็ต้องหาทางสะสางมันให้ได้ ไม่งั้นก็จะต้องทนทุกข์แบบนี้ไปเรื่อยๆ
.
ข้อแนะนำที่ผมพอจะแนะนำได้ก็คือ
1 มองสถานการณ์ตามความเป็นจริง ว่าอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง มัน Work ต่อชีวิตเราไหม
.
2 กล้าที่จะสื่อสาร เรื่องที่อึดอัด เก็บงำอะไรเอาก็ ก็หาโอกาสไปสื่อสาร พูดคุยกันตรงๆ ชีวิตจะได้เบาขึ้น ไม่ต้องแบกอะไรไว้ทั้งหมด
.
3 ทำให้ชีวิตไม่มีเรื่องค้างคา ให้มันจบสมบูรณ์ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะสมหวัง หรือ ผิดหวัง ก็ให้เรา Complete กับมัน วันดีคืนดี หากมีอะไรที่มันค้างคาโผล่ขึ้นมา เช่น เรื่องที่เราอาจจะบอกกับตัวเองว่า ช่างแม่ง ไปแล้ว แต่มันก็ยังโผล่ขึ้นมาในความคิดบ่อยๆ แสดงว่ามันยังค้างคาอยู่ครับ (ลองไปดูหนังเรื่อง How to ทิ้ง ก็ได้นะ อารมณ์ประมาณนั้นเลย) ก็ไปทำให้มันจบเสีย ใจก็จะเบาสบายครับ
.
4 กล้าที่จะสร้างกติกาในความสัมพันธ์ที่ไม่ OK หากสามารถทำได้ก็สื่อสารให้ชัดเจนว่าเราไม่ชอบอะไร มันมีผลกระทบอะไรต่อเราบ้าง ถ้าอีกฝั่งยอมรับก็ถือว่าดี สามารถเริ่มต้นกันใหม่ได้ หากไม่ OK ก็ลองดูว่าเรายอมรับได้ไหม หากความสมพันธ์มันจะเป็นแบบนี้ไปต่อ
.
5 ใส่ใจคนรอบข้าง จัดตารางชีวิตที่จะใช้เวลาร่วมกัน เช่น ผมจะนัดทานข้าวกับภรรยากัน 2 คน (ไม่พาลูกไปด้วย) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้พูดคุยกัน 2 คนเป็นเรื่องส่วนตัวกันบ้าง โทรหาพ่อแม่เป็นประจำ หรือ นัดโทรคุยกับอะไรแบบนี้ครับ โดยจะใช้ตัวช่วยก็คือปฏิทินในมือถือนี่แหละ ลงตารางนัดหมายไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้เห็นภาพของความสัมพันธ์ว่าเราจะติดต่อใครยังไงบ้างครับ
.
หากทำได้ตามนี้ ใจเราก็จะสบายขึ้น การเทรดก็จะไม่มีอะไรมาถ่วงให้หนักใจมากนัก ที่เหลือก็เป็นเรื่องของแผนการเทรด แผนการคุมความเสี่ยงแล้วครับ
.
คุณคงไม่ปฏิเสธที่จะจะนำไปปรับใช้กับวิถีชีวิต วิถีการเทรดตั้งแต่วันนี้ใช่ไหมครับ ?
No comments:
Post a Comment