Pages

Saturday, May 6, 2017

0533 : TDEX + SET50 Index Options


Kakashi's copy jutsu today จากคุณ Belffet (ผม Save จาก www.richdadthai.com ไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2011-2012 ครับ และได้หลังไมค์คุยกับคุณ Belffet เพิ่มเติมใน ww.thaivi.org ครับ)


TDEX + SET50 Index Options

การลงทุนที่ผมจะพูดถึงนี้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง หากผู้ลงทุนไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการลงทุนในหุ้น, กองทุน ETF และอนุพันธ์อย่าง Options เป็นอย่างดีแล้วล่ะก็ อาจทำให้เกิดผลขาดทุนถาวรได้อย่างมากเลยทีเดียว ขอให้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจลงทุนด้วยนะครับ

1. ทำความเข้าใจก่อนว่า TDEX กับ SET50 Index Options เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน และ "เกือบจะเหมือนกัน"

2. สัญญา Options 1 สัญญา จะมีค่าครอบคลุม TDEX จำนวน 20,000 หน่วย (ในที่นี้จะเรียกว่า 1ล็อต)

3. เมื่อเริ่มต้น หรือไม่มี TDEX ในมือเลย ให้ดูดัชนี SET50 แล้วจึง Short Put Options ที่จุดที่ต่ำกว่าดัชนี SET50 ปัจจุบันให้มากที่สุด แต่ต้องให้ได้รับ Premium ที่พอรับได้ (ยิ่ง Short ต่ำก็ยิ่งปลอดภัย แต่ Premium ที่ได้รับก็ยิ่งต่ำ)

4. เก็บ Put Options ที่ Short ไว้ ตามข้อ 3 ไว้จนหมดอายุ (หรือ Long คืนหากได้กำไร) และต้องไม่ลืมสำรองเงินเอาไว้ซื้อ TDEX เป็นล็อตตามจำนวนสัญญาที่ Short

5. อย่าทำอะไรเกินตัวด้วยการ Short หลายๆสัญญาทั้งๆที่มีเงินสำรองไม่พอที่จะซื้อ TDEX ให้ได้จำนวนล็อต เท่ากับจำนวนสัญญาในข้อ3

6. เมื่อ Put Options จากข้อ 3 หมดอายุลง จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ 2 กรณี
6.1 ดัชนี SET50 อยู่เหนือหรือเท่ากับจุดที่เรา Short Put ไว้
-- กรณีนี้เราจะได้ Premium จากข้อ 3 มาเป็นผลตอบแทน จากนั้นเริ่มทำ ข้อ3 ใหม่
6.2 ดัชนี SET50 ตกลงไปจนต่ำกว่าจุดที่เรา Short Put ไว้
-- กรณีนี้เราจะขาดทุนจาก Short Put Options ให้ใช้เงินสำรองซื้อ TDEX เป็นจำนวนล็อตตามจำนวนสัญญา แล้วนำผลขาดทุนไปรวม ผลที่ได้ให้ถือว่า เราได้ซื้อ TDEX ณ ดัชนี SET50 ที่เรา Short Put ไว้พอดี (ราคา TDEX ปัจจุบันที่ต่ำกว่านั้น ให้ถือว่าเป็นการขาดทุนทางบัญชี)

7. ต่อจาก 6.2 ให้เรา Short Call Options เป็นจำนวนสัญญาตามจำนวนล็อต TDEX ที่เรามี
โดย Short ณ ดัชนีที่สูงกว่าต้นทุน หรือดัชนีปัจจุบันมากๆ เพื่อล็อคราคาที่เราต้องการขายออกไป
(ยิ่ง Short สูงก็ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ Premium ที่ได้รับก็จะต่ำลง)

8. ถ้ามีเงินสำรองเหลือ สามารถทำข้อ 3 ควบคู่กับข้อ 7 ได้ด้วย

9. เก็บ Call Options จากข้อ 7 ไว้จนหมดอายุ จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นได้ 2กรณี
9.1 ดัชนี SET50 อยู่ต่ำกว่าหรือเท่ากับจุดที่เรา Short Call ไว้
-- กรณีนี้เราได้ Premium จากข้อ 7 มาเป็นผลตอบแทน และเริ่มทำข้อ 7 ใหม่ โดยที่ TDEX ยังอยู่เหมือนเดิม
9.2 ดัชนี SET50 พุ่งขึ้นสูงจนอยู่เหนือจุดที่เรา Short Call ไว้
-- กรณีนี้เราจะขาดทุนจาก Call Options แต่ TDEX เราจะได้กำไร ให้เราขายทำกำไร TDEX ตามราคาตลาดมาชดเชย

10. เริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่อีกครั้ง โดยมีเป้าหมายว่าเราจะมีจำนวนล็อต TDEX ที่มากขึ้นเรื่อยๆ
(เพื่อทำการ Short Call และเก็บกิน Premium ได้มากขึ้น) และได้รับเงินปันผลจากหุ้นที่ TDEX เข้าไปลงทุนไว้



กรณีตัวอย่าง

ขณะนี้ TDEX มีราคาประมาณ 7.5 บาท
1 ล็อต = TDEX จำนวน 20,000 หน่วย = 150,000 บาท
10 ล็อต = เงินลงทุน 1,500,000 บาท
ราคาสัญญา Call Options ที่สามารถขายได้อยู่ที่ประมาณ 12-20 บาท
(ขึ้นอยู่กับ Strike Price ที่ต้องการ) โดยมีตัวคูณดัชนี =200
จะได้รับเงินค่า Premium ประมาณ 24,000 บาท ถึง 40,000 บาท
โดยมีอายุสัญญา 3 เดือน (เฉลี่ยเดือนละ 8,000 ถึง 13,000 บาท) ไม่รวมปันผลอีกประมาณ 2-3% ต่อปี นั่นหมายความว่า ยิ่งมีจำนวนล็อต TDEX มากขึ้น ก็จะมีโอกาสสร้างกระแสเงินสดได้สูงขึ้น

การลงทุนแบบนี้ไม่ใช่การลงทุนที่ดีที่สุด เพราะมันเป็นกระบวนการที่ช้ามาก, Leverage น้อย  และเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างน่าเบื่อ แต่ถ้าใครกำลังมองหาสิ่งที่จะเป็นเครื่องจักรผลิตกระแสเงินสดในอนาคต ผมคิดว่าการลงทุนแบบนี้น่าจะอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการพิจารณาของคุณครับ


ส่วนข้อ 3 กับ ข้อ 7 ที่ถามมานั้น ผมหมายถึง Short Options ครับไม่ใช่ Short ตัว TDEX โดยตรง
อธิบายขยายความก็คือ สมมติ ณ ตอนนี้ SET50 อยู่ที่ 800 จุด ตัว TDEX ก็น่าจะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 8.00 บาท

ผมในฐานะนักลงทุนคนหนึ่ง มองดูตลาดแล้วก็นึกกับตัวเองว่า…
ถ้า TDEX ตกลงมาจาก 8.00 บาท มาอยู่ที่ซัก 7.30 บาท ผมก็จะขอลงทุน TDEX ซัก 20,000 หน่วย ครั้นผมจะรออย่างเดียวโดยที่ไม่ทำอะไรเลยก็ดูไม่มีประโยชน์

ผมก็เลยใช้วิธี Short SET50 Put Options ที่ 730 จุดซะ จากนั้นก็เก็บ premium ไป
ถ้าหาก SET50 ลงมาไม่ถึง 730 จุด TDEX ก็ไม่น่าจะลงมาถึง 7.30 บาท

ซึ่งแปลว่ามันยังไม่ถึงจังหวะที่ผมจะลงทุน สิ่งที่ผมได้ก็คือ premium ที่เรา Short Options ไว้
อันนี้คือข้อ 3 นะครับ

ส่วนข้อ 7 ก็คือ จากตัวอย่างเดียวกัน ถ้า SET50 ลงมาจนถึง 730 จุดจริง TDEX ก็น่าจะมีราคาประมาณ 7.30 บาทด้วย

ซึ่งนั่นก็เป็นจุดที่ผมตั้งใจว่าจะซื้อ TDEX อยู่แล้ว ผมก็จะลงทุนซื้อ TDEX ไป 20,000 หน่วยครับ

พอได้ TDEX มา 20,000 หน่วยปุ๊บ ผมก็จะทำ Covered Call ด้วยการ Short Call Options ออกไปห่างๆหน่อย

เช่น Short ที่ 800 จุดครับ

การทำเช่นนั้นหมายความว่า ผมคิดว่าถ้า SET50 ขึ้นมาถึง 800 จุด TDEX ก็น่าจะขึ้นถึง 8.00 บาทด้วย และเมื่อถึงจุดนั้นผมก็ตั้งใจว่าจะขาย TDEX จำนวน 20,000 หน่วยที่ซื้อมาที่ราคา 7.30 บาทนี้ออกไป ซึ่งตรงนี้ก็คือข้อ 7 นั่นเองครับ



การจะ Short Put ครั้งหนึ่งนั้น ต้องมั่นใจว่ามีเงินสดมากพอที่จะซื้อ TDEX ให้ได้ครอบคลุมตามจำนวนสัญญา ที่เรา Short Put ไว้ (สัญญาละ 20,000 หน่วย) และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัว TDEX แม้มีลักษณะคล้ายหุ้นแต่ก็ไม่ใช่หุ้น

ด้วยความที่มันเลียนแบบดัชนี SET50 ออกมา ทำให้เราพอจะมีความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่า
การตกลงของราคา TDEX จะไม่ใช่การตกถาวรครับ ดังนั้นหากเรามีเงินทุนสำรองเพียงพอที่จะสำรองซื้อ TDEX ได้  และแบ่งขอบเขตในการ Short Put และ Call ให้ดี เราก็จะสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งจาก Premium และ เงินปันผลของตัว TDEX เองด้วยครับ

TDEX คือ Underlying Asset ถูกต้องแล้วครับ ส่วนที่กังวลว่า Options เมืองไทยเป็นแบบ Cash Settlement  แล้วจะทำให้ต้องจ่ายสองต่อนั้นผมจะขออธิบายดังนี้ครับ

สมมติ มี นาย ก กับ นาย ข ครับ ต่างคนต่างต้องการลงทุนใน TDEX ด้วยกลยุทธ์ว่า "ข่าวดีให้ขาย ข่าวร้ายให้ซื้อ"  ทั้งสองคนที่เงินทุนพอสมควรไม่มากไม่น้อย และทั้งสองมีทัศนคติที่ดีในการลงทุนระยะยาว มีความเชื่อมั่นว่าตลาดมีลงก็ต้องมีขึ้น ข้อแตกต่างข้อเดียวก็คือ นาย ก ไม่ใช้ Options

ส่วนนาย ข ใช้ Options มาช่วยลงทุนด้วย
เมื่อ SET50 อยู่ที่ 800 จุด และ TDEX มีราคาประมาณ 8.00 บาทนั้น

ทั้งนาย ก และนาย ข ต่างคิดตรงกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า ถ้า TDEX ตกลงมาเหลือซัก 7.30 บาท ก็จะเข้าไปลงทุนสัก 20,000 หุ้น  (และถ้ายังตกลงไปกว่านั้นอีก ทั้งคู่ก็จะลงทุนใน TDEX เพิ่มอีก)

นาย ก ไม่ใช้ Options จึงได้แต่รอราคา TDEX ตกอย่างเดียว
ส่วนนาย ข ใช้ Options ช่วยด้วยการขาย SET50 Put Options ที่ 730 จุด ไป 1 สัญญา
สมมติขายได้ Premium มา 2,500 บาทนะครับ

ช่วงเวลานั้นปรากฏว่าตลาดหุ้นมีข่าวร้ายเยอะมาก SET50 ตกจาก 800 ลงไปที่ 730 จุด และ TDEX ก็มีราคาประมาณ 7.30 บาทจริงๆ นาย ก จึงตัดสินใจลงทุน TDEX ไป 20,000 หน่วย คิดเป็นเงิน 146,000 บาท

ฟาก นาย ข มองว่า อีกไม่นานสัญญา Put Options ที่ตัวเองขายไว้ก็กำลังจะหมดอายุแล้ว จึงตัดสินใจขอลองดูสถานการณ์ไปก่อน เมื่อสัญญา Options หมดอายุ ปรากฏว่าตลาดหุ้นยังตกลงต่อเนื่องไปหยุดอยู่ที่ 700 จุด พอดี

ณ SET50 ที่ 700 จุด TDEX น่าจะมีราคาประมาณ 7.00 บาท
นาย ก ที่ลงทุน TDEX ไปที่ 7.30 บาทเป็นจำนวน 20,000 หน่วย
ก็จะมีผลขาดทุนทางบัญชีอยู่ที่ 20,000 * (-0.30) = 6,000 บาท

ฟาก นาย ข ที่ขาย Put Options ไว้ และสัญญาหมดอายุพอดีที่ SET50 ที่ 700 จุดซึ่งต่ำกว่า 730 จุดที่ขายไว้  นาย ข จึงต้องทำ Cash Settlement ที่ (730-700)*200 = 6,000 บาท เท่ากับนาย ข ขาดทุนจาก Options ไปก่อน 6,000 บาท

แต่นาย ข ได้รับ Premium มาก่อนแล้ว 2,500 บาท นั่นหมายความว่า  นาย ข ขาดทุนจาก Options จริงๆเพียง 6,000 - 2,500 = 3,500 บาท

และตามกลยุทธ์ของ นาย ข ซึ่งตั้งใจที่จะลงทุนใน TDEX อยู่แล้ว นาย ข จึงตัดสินใจเข้าซื้อ TDEX เป็นจำนวน 20,000 หน่วย แต่นาย ข จะไม่ได้ซื้อที่ราคา 7.30 บาทนะครับ เพราะตอนนี้ตลาดตกลงมาเยอะกว่านั้น นาย ข จึงสามารถซื้อ TDEX ได้ที่ราคา 7.00 บาท รวมเป็นเงิน 20,000 * 7.00 = 140,000 บาท

เมื่อเปรียบเทียบ นาย ก กับ นาย ข ในกรณีนี้จะเห็นว่า ในสภาพตลาดขาลง นาย ข ดูเหมือนจะต้องจ่ายสองต่อ คือจ่ายเงินจากผลขาดทุน Options ด้วย และจ่ายเงินซื้อ TDEX ด้วย

แต่ปรากฏว่า คำนวณไปคำนวณมา นาย ข กลับใช้เงินลงทุนจริงๆน้อยกว่า นาย ก ครับ (นาย ก ใช้เงิน 146,000 บาท ส่วนนาย ข ใช้เงิน 143,500 บาท)

ถามว่า "แล้วทำไมนาย ก ไม่รอจนกว่า TDEX จะตกลงมาจนถึง 7.00 บาทค่อยลงทุนล่ะ ?"

คำตอบก็คือ ใครจะไปรู้ล่ะครับว่าตลาดจะเป็นอย่างไร เนื่องจากตลาดเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ
ยากมากที่หาคนที่จะพยากรณ์ตลาดอย่างแม่นยำได้

ขอเรียนตามตรงว่ากลยุทธ์นี้เน้นการสะสม TDEX เพื่อรับเงินปันผล และใช้ Options ในการสร้างกระแสเงินสดระหว่างทาง ไม่ใช่เป็นการเน้นทำกำไรจากการเทรด Options

เป้าหมายสุดท้ายจริงๆจึงอยู่ที่การมีจำนวน TDEX ให้มากที่สุดด้วยต้นทุนที่น้อยที่สุด เพื่อเงินปันผลจากหุ้นใน TDEX และ Premium จากการขาย Options ครับ



ต้องใช้เงินสำรองสูงนั้นเป็นเรื่องจริงครับ เพราะถ้า Short Put 1 สัญญา เราต้องมั่นใจว่าเรามีเงินพอที่จะซื้อ TDEX จำนวน 20,000 หน่วย ณ ดัชนี SET50 ที่เรา Short ไว้ครับ

ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็คือประมาณ 20,000 * 8 = 160,000 บาท นั่นหมายความว่า ถ้า Short 2 สัญญา ก็ต้องมีสำรอง 320,000 บาท 3 สัญญาก็ 480,000 บาท

ดังนั้นผมจึงเน้นย้ำตั้งแต่ต้นว่าไม่ควร Short Put หลายๆสัญญาเพราะเห็นแก่ Premium โดยที่ไม่ดูว่าเรามีเงินสดพอที่จะซื้อ TDEX หรือไม่



ส่วนที่ถามมา SET50 ตอนนี้อยู่ราว 840 ส่วน TDEX ก็ไล่กันอยู่แถวๆนั้น ทำให้ต้องมีเงินสำรองมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อันนี้เรื่องจริงครับ อย่างไรก็ตามผมไม่แน่ใจว่าผลตอบแทนจะต่ำลงจริงหรือไม่

เพราะโดยปกติแล้ว premium จะแปรผันตาม underlying asset ด้วย ลองคิดเป็น % ดูนะครับ ปกติแล้วผมจะมองหา premium ที่มีราคาประมาณ 1.5% ขึ้นไป ของ underlying asset

นั่นหมายความว่า หาก SET50 อยู่ที่ 840 จุด ถ้าผมต้องการซื้อ TDEX ที่ 8.00 บาท สำหรับผมแปลว่าตัว Underlying Asset อยู่ที่ประมาณ 8.00*20,000 = 160,000 บาท (เพื่อซื้อ TDEX 20,000 หน่วย) ผมก็จะมองหา premium ประมาณ 12 บาทครับ (ที่ราคานี้อาจจะ short put ได้ไม่ลึกนัก แต่ก็น่าพอใจครับ)

ดังนั้นผมมองว่าหุ้นขึ้นก็จริง แต่ตลาดก็ค่อยๆปรับ premium ขึ้นตามเช่นกันครับ ไม่ต้องกังวลครับ  ตอนนี้อาจเห็นไม่ค่อยชัดนัก แต่ถ้า SET50 ขึ้นไปถึงซัก 1,500 จุด หรือ 2,000 จุด เราน่าจะเห็นความต่างของ premium ในวันนั้นก็ตอนนี้ที่ชัดขึ้นครับ





ที่ผมบอกว่าเป็นเครื่องจักรผลิตกระแสเงินสดนั้น จะขออธิบายโดยเปรียบเทียบกับ การซื้อขายคอนโดฯ ประมาณนี้นะครับ

1. เริ่มต้นผมยังไม่มีคอนโดแม้แต่ห้องเดียว สมมติว่าคอนโด ณ เวลานี้ราคา 150,000 บาท
ผมก็ไปทำสัญญาว่าจะซื้อคอนโดกับ นาย A ที่ราคา 142,000 บาท โดยสัญญามีอายุ 3 เดือน

2. เมื่อครบ 3 เดือนนี้ นาย A สามารถเลือกว่าจะเอาคอนโดมาขายผมที่ราคา 142,000 บาทหรือไม่ก็ได้ แต่นาย A ต้องจ่ายเงินกินเปล่าให้ผมก่อนเป็นเงิน 2,500 บาทเพื่อแลกกับสัญญาฉบับนี้

3. พอครบ 3 เดือน หากคอนโดหลังนี้มีราคา 150,000 บาทเท่าเดิมหรือสูงกว่านั้น นาย A ก็จะไม่เอาคอนโดมาขายให้ผม (เพราะผมสัญญาว่าจะซื้อแค่ 142,000 บาท) ผลก็คือ ผมจะไม่ได้ซื้อคอนโด แต่ก็จะได้เงินกินเปล่ามา 2,500 บาท

4. แต่หากเมื่อครบ 3 เดือน ราคาคอนโดตกลงไปเหลือน้อยกว่า 142,000 บาท นาย A ก็จะเอาคอนโดมาขายผม ส่วนผมก็มีหน้าที่ต้องซื้อคอนโดตามที่ผมสัญญาไว้ (แต่เงินกินเปล่าผมไม่ต้องคืนนะครับ)

5. ทีนี้เมื่อผมมีคอนโด 1 ห้องแล้ว สมมติว่าตอนนี้ราคาคอนโดในตลาดอยู่ที่ 140,000 บาท
ผมก็ไปทำสัญญากับนาย B ว่าจะขายคอนโดที่ราคา 148,000 บาท โดยสัญญามีอายุ 3 เดือน

6. เมื่อครบ 3 เดือน นาย B สามารถเลือกว่าจะมาซื้อคอนโดของผมที่ราคา 148,000 บาทหรือไม่ก็ได้ แต่นาย B ต้องจ่ายเงินกินเปล่าให้ผมก่อนเป็นเงิน 2,500 บาทเพื่อแลกกับสัญญาฉบับนี้

7. พอครบ 3 เดือน หากคอนโดหลังนี้มีราคา 140,000 บาทเท่าเดิมหรือต่ำกว่านั้น นาย B ก็จะไม่มาซื้อคอนโดจากผม (เพราะผมสัญญาว่าจะขายที่ 148,000 บาทซึ่งแพงกว่าราคาตลาด) ผลก็คือ ผมจะยังคงเป็นเจ้าของคอนโดต่อไป และได้เงินกินเปล่าค่าทำสัญญามา 2,500 บาท

8. แต่หากเมื่อครบ 3 เดือน ราคาคอนโดสูงขึ้นไปมากกว่า 148,000 บาท นาย B ก็จะมาซื้อคอนโดผม (เพราะถูกกว่าซื้อในราคาตลาด) ส่วนผมก็มีหน้าที่ต้องขายคอนโดตามที่ผมสัญญาไว้ (แต่เงินกินเปล่าผมก็ไม่ต้องคืนนะครับ)


กระบวนการต่างๆข้างต้นก็สามารถวนไปวนมาได้เรื่อยๆ ใครที่มีเงินเหลือสำรองเยอะก็มีโอกาสสะสมคอนโดได้หลายๆห้องมากขึ้น เมื่อคอนโดเยอะขึ้น จำนวนสัญญาเพิ่มขึ้น เงินกินเปล่าก็มากขึ้น ตัวเงินกินเปล่านี่เองที่เป็นกระแสเงินสดให้แก่ผู้ลงทุนครับ

ตัวเลขข้างต้นค่อนข้างใกล้เคียงความเป็นจริงพอสมควรนะครับ (เพราะผมเองก็ใช้วิธีนี้อยู่ครับ) ถ้ามีคอนโด 1 ห้อง ผลตอบแทนจากเงินกินเปล่าก็น่าจะราวๆ 6.4% ต่อปี บวกกับเงินปันผลที่น่าจะได้อีกประมาณ 2-3% รวมกันก็ราวๆ 9% ต่อปีครับ

แต่ถ้าไม่มีคอนโดเลย อยากจะซื้อก็ไม่เคยได้ซื้อ (คือ ราคาไม่ตกลงมาถึงจุดที่เราสัญญาว่าจะซื้อซักที) เราก็เก็บเงินกินเปล่าไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีเงินลงทุนครับ

No comments:

Post a Comment